เปิดห้องเรียน“CIBA DPU” ดึงเกมเสริมทักษะรอบด้าน ปั้นคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)เปิดห้องเรียนสาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเน้นเรียนรู้แนวแอคทีฟ เสริมทักษะความรู้ผ่านเกม เส้นทางการปั้นนักบริหารคลังสินค้าและการวิเคราะห์ข้อมูลทางโลจิสติกส์ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่
ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)เปิดเผยว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจากศักยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ 10 ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีประชากรรวมกันประมาณ600 ล้านคนสอดรับกับข้อมูลจาก Euromonitor ได้คาดการณ์มูลค่าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของไทยไว้ที่ 4.24 แสนล้านบาทในปี 2565 และจะขยายตัวเป็น 9.06 แสนล้านบาทในปี 2569
“การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีโลจิสติกส์เปรียบเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญและเป็นส่วนที่ส่งผลต่อความ สำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตซึ่งไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงธุรกิจต่าง ๆ ด้วย” ดร.คุณากร กล่าว
นอกจากนี้ โลจิสติกส์ยังเป็น1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ดังนั้น เป้าหมายหลักของ CIBA จึงให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในธุรกิจโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในอนาคต
ดึงเกมเสริมทักษะ‘วิเคราะห์ธุรกิจ-เรียนรู้เร็ว’
ดร.คุณากร กล่าวว่า หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สอนโดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์ เน้นการเรียนการสอนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือทำจริงผ่านการจำลองสถานการณ์ทางโลจิสติกส์จากเกมมอนซูนซิม (MonsoonSIM Business Simulation)ที่นักศึกษาแม้ไม่มีความรู้พื้นฐานก็สามารถเข้าใจ และสนุกไปกับการเรียนในรูปแบบนี้
“แรก ๆ นักศึกษามองภาพไม่ออกว่าโลจิสติกส์คืออะไร อาจคิดว่าเป็นแค่การขนส่ง แต่จริง ๆ แล้วงานด้านโลจิสติกส์เป็นการบริหารจัดการหลังบ้านของธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อสินค้าเข้ามาจนถึงส่งถึงมือลูกค้า โดยในเกมจะมอบเงินตั้งต้นให้ เช่น 3.5 ล้านบาทที่จะนำไปใช้บริหารงานแต่ละส่วน เช่น จัดการสต็อกสินค้า ขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ภายในวันที่กำหนด การจัดซื้อกับเวนเดอร์ สินค้าล็อตไหนจ่ายก่อน จ่ายหลัง รวมไปถึงการค้นหาและจัดซื้อข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์คู่แข่ง กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวมานี้จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งนำไปสู่การคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ” ดร.คุณากร กล่าว
ขณะที่การเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning – ERP) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลในทุกแผนกขององค์กรอย่างบูรณาการ โดยนักศึกษาจะได้ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของระบบ ERP ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การประมวลผล และการนำเสนอข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่างส่วนงานต่าง ๆ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแผนกเมื่อมีการสร้างใบเซลล์ออเดอร์ (Sales Order) ระบบ ERP จะทำงานเชื่อมโยงข้อมูลไปยังแผนกการผลิตและคลังสินค้าเพื่อวางแผนจัดเตรียมสินค้าการติดตามสถานะสินค้าและคำสั่งซื้อระบบช่วยให้นักศึกษาสามารถตรวจสอบการไหลของวัตถุดิบและสินค้าได้แบบเรียลไทม์ ตั้งแต่กระบวนการรับเข้า การจัดเก็บ ไปจนถึงการจัดส่งการวางแผนทรัพยากรนักศึกษาจะได้ฝึกการใช้งานโมดูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การคาดการณ์ความต้องการสินค้า การจัดตารางการผลิต และการควบคุมสต็อก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร และระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligent)พร้อมกันนี้ในส่วนของรายวิชาการจัดการคลังสินค้า ทำให้เรียนรู้การไหลของวัตถุดิบ ตั้งแต่การรับสินค้า (Receiving) เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้าและการบันทึกข้อมูลการจัดเก็บ (Storage) เช่น วิธีการจัดเรียงสินค้าการเบิกจ่ายสินค้า (Picking and Packing) ด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ Pick-to-Light เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดตลอดจนช่วยลดต้นทุนในกระบวนการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีรายวิชาการวิเคราะห์และการตัดสินใจด้านโลจิสติกส์ และอุปทาน ซึ่งสอนเป็น Excelมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำซึ่งแนวทางการสอนภายใต้หลักสูตรนี้มีเป้าหมายบ่มเพาะและพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะการวิเคราะห์โลจิสติกส์และบริหารคลังสินค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
ดร.คุณากร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว การปรับหลักสูตรให้ทันสมัยตามแนวโน้มใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งต่อจากนี้โลจิสติกส์ที่เน้นความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการทำธุรกิจ อาทิเช่น การขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทางเลือก การออกแบบเส้นทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมถึงการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้กล่องที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย และการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบติดตามพัสดุอัจฉริยะและการจัดการโลจิสติกส์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในระยะยาวนอกจากนี้ แนวคิดการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในกระบวนการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานกำลังได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยองค์กรต่างๆ เริ่มนำระบบติดตามและวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละขั้นตอนมาใช้ เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในคลังสินค้า การเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่มีระยะทางสั้นที่สุด และการจัดส่งสินค้าร่วมกัน (Consolidated Shipping) เพื่อลดจำนวนการขนส่ง
ทั้งนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจ การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวางแผนและบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวและนำความรู้ไปใช้ได้จริงในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
บทพิสูจน์ความรู้สู่ลงมือทำ
การเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานจากเกมมอนซูนซิม ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านผู้เรียนจริง โดยนายภัทรเวชศรีชัยวงษ์ยศ, นายศิรวิทย์สามเรือนทอง, นางสาวกันติชาแซ่ตั้ง, นางสาวแพรพรมาตแพงและนางสาววริศราอยู่เจริญทีม “RUBSARB”ตัวแทนนักศึกษาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเผยถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรียนในสาขานี้ พร้อมวางแผนถึงการทำงานในสายงานนี้เมื่อจบการศึกษาโดยน้อง ๆ ทั้ง 5คนบอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนในบรรยากาศที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ผ่านโลกจำลอง แต่ยังเสริมสร้างความเข้าใจด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้ง ทั้งในบทบาทของฝ่ายจัดซื้อ การตลาด และการจัดการคลังสินค้า โดยเน้นบรรยากาศการเรียนที่เปิดโอกาสให้คิดวิเคราะห์ ฝึกปฏิบัติจริง และเรียนรู้อย่างมีความสนุกสนาน
นอกจากประสบการณ์ในห้องเรียนที่ CIBA แล้ว ความรู้ด้านจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ได้ต่อยอดให้น้อง ๆ นำทักษะนี้เข้าร่วมการแข่งขัน MERMC 2024 หรือ MonsoonSIM Enterprise Resource Management Competitionและสามารถชนะคู่แข่ง คว้าตำแหน่งตัวแทนประเทศไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews