Home
|
ทั่วไป

สธ.ชงศบค.มาตรการโควิดอุบล็อกดาวน์

Featured Image
สธ.ชง ศบค. มาตรการโควิดอุบตอบมีล็อกดาวน์จุดไหนขอรอรายละเอียด ขู่ฟันสถานพยาบาล – คลินิกไม่รักษาหรือดูแลผู้ป่วย รวมถึงผู้ปกปิดไทม์ไลน์หรือฝ่าฝืนมาตรการ

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ร่วมกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าว ประเด็นสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ, วัคซีนโควิด 19 และ ประเด็น Hospitel ระบุว่า วันนี้ไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 1,543 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศซึ่งพบในระบบบริการ จำนวน 1,161 ราย และการติดเชื้อในประเทศซึ่งพบ จากการคัดกรองเชิงรุก 379 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศอีก 3 ราย ภาพรวม การติดเชื้อสะสม 37,453 ราย

ทั้งนี้พบมีกรณีการติดเชื้อคลัสเตอร์ค่ายอาสาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 77 คน ล่าสุด พบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในค่ายดังกล่าว 34 คน อีก 41 คนไม่พบเชื้อ อยู่ระหว่างรอผล 2 คน โดยกรณีนี้พบจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง 13 จังหวัด และอีกกรณีคือคลัสเตอร์งานสัมมนา ที่ จ.นนทบุรี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงาน 80 คน กรณีนี้พบผู้ติดเชื้อ 14 คน มีจังหวัดที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง 8 จังหวัด ภาพรวมประเทศไทยขณะนี้ยังคงมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการประชุมทุกวัน เมื่อเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ก็มีการเสนอมาตรการจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร โดยมีการแบ่งพื้นที่ที่มีความหนักเบาต่างกัน และมาตรการก็ต้องมีความเหมาะสมต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ส่วนจะมีการล็อค์ดาวน์พื้นที่ไหนหรือไม่นั้นขอให้ติดตามในรายละเอียดของมาตรการที่จะออกมาต่อไป ขณะที่การให้ข้อมูลสอบสวนโรคหรือไทม์ไลน์นั้น ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก จึงอยากขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก้อนการระบาดให้ความร่วมมือหากพบมีผู้ป่วยแล้วไม่แจ้งข้อมูล, ปิดบัง หรือฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรการ ก็จะมีโทษ ปรับ หรือ จำคุกแล้วแต่กรณี ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยืนยันไม่ได้ฉีดช้าจนเกินไป มีการฉีดได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ล่าสุด ได้ดำเนินการฉีดไปแล้ว ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 14 เม.ย. 64 รวม 581,308 ใน 77 จังหวัด

สำหรับเรื่องของการเตรียม Hospitel หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง นั้น ยืนยันมีมาตรฐานเดียวกันกับการรักษาในสถานพยาบาลชั่วคราว ขอให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าจะได้รับการดูแล โดยหากผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถจะย้ายกลับไปรักษาที่ รพ.หลักได้ทันที

ส่วนกรณีที่พบมีสถานพยาบาล หรือ คลินิคหลายแห่งไม่ได้ให้การดูแลผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในทันที จนเกิดเป็นภาระแก่ผู้ป่วยที่ต้องดำเนินการหาเตียงเอง บางรายเดินทางไปมาทำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมโรคนั้น ล่าสุด สบส. ได้ออกประกาศกำหนดให้คลินิกและโรงพยาบาลทุกแห่ง จะต้องมีระบบให้คำปรึกษาว่าคนไข้จะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร ซึ่งคลินิกที่จะสามารถตรวจได้ต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อตรวจพบผลเป็นบวก จะต้องแจ้งข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดต่อ และต้องจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโดยการประสานและส่งต่อ หากพบไม่ดำเนินการตามนี้ ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีทั้งโทษจำและปรับ รวมถึงความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค ด้วย เช่นสถานพยาบาลแห่งหนึ่งย่านบางนา ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างพิจารณาเอาผิดทางกฎหมาย ทั้งนี้พบว่า อัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงสาธารณสุขเองไม่ได้นิ่งนอนใจได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับจัดสรรให้มีความเพียงพอ ในอัตราผู้ป่วยประมาณ 400 – 500 รายต่อวัน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube