มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว “MAHIDOL AQHI”
วันที่ 9มกราคม 2568 คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว “MAHIDOL AQHI”โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลรองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและพันธกิจเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลรองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ (อาคาร 1) ชั้น 2 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน มลพิษทางอากาศส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก โดยสารมลพิษทางอากาศแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1. อนุภาคหรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าฝุ่นละออง ซึ่งจะมีชื่อเรียกตามขนาด อาทิ PM10 PM2.5 เป็นต้น 2. แก๊สต่าง ๆ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งความอันตรายของมลพิษทางอากาศคือมลสารบางชนิดไม่มีกลิ่น ไม่มีสี เมื่อเข้าไปสะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงขึ้น
มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืนอันสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของสหประชาชาติ (United Nations)เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยจากการศึกษามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองและก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการเกิดความเสี่ยงของโรคอย่างมีนัย จึงเป็นที่มาของโครงการของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เรื่อง “Air Quality Health Index (AQHI)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย” ที่นำค่าความเข้มข้นของสารมลพิษแต่ละชนิดมาแปลผลและนำเสนอในรูปแบบอย่างง่ายเพื่อใช้สื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากมลพิษทางอากาศแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและภาคีเครือข่าย จึงได้พัฒนาเครื่องมือชนิดใหม่ที่เรียกว่าค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ Air Quality Health Index (AQHI) เพื่อใช้สื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับความเสี่ยงต่ำ (Low Risk) ค่า AQHI อยู่ในช่วง 1-3 ระดับความเสี่ยงปานกลาง (Moderate Risk) ค่า AQHI อยู่ในช่วง 4-6 ระดับความเสี่ยงสูง (High Risk) ค่า AQHI อยู่ในช่วง 7-10 และระดับความเสี่ยงสูงมาก (Very High Risk) ค่า AQHI มากกว่า 10 ขึ้นไป แสดงค่าสีเป็นสีเขียว เหลือง ส้ม และแดง โดยสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://aqhi.mahidol.ac.th/
ด้วยกิจกรรมหลากหลายและมีแหล่งกำเนิดสารมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการจราจร การใช้รถ ใช้ถนน ซึ่งในภาวะปกติ กรณีที่สภาพบรรยากาศเอื้อต่อการระบายอากาศ การเจือจางสารมลพิษในบรรยากาศก็จะไม่เกิดปัญหาใด ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยเอื้อทางอุตุนิยมวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด เพดานอากาศต่ำลง ลมสงบ ไม่มีการถ่ายเท หรือการหมุนเวียนของอากาศ เกิดสภาวะมลพิษทางอากาศขึ้นในกรุงเทพฯ โดยสถิติที่ผ่านมามักจะเกิดในช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม ของทุกปี กรุงเทพฯ จะมีสภาพอากาศปิด ส่งผลต่อการระบายหรือเจือจางของสารมลพิษในบรรยากาศ
ทั้งนี้ “MAHIDOL AQHI” ได้แนะนำรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชนกลุ่มต่างๆซึ่งมีด้วยกัน 4 ระดับความเสี่ยง ประกอบด้วย ความเสี่ยงแรก คือ ความเสี่ยงระดับต่ำ 1-3 เป็นสีเขียว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำกิจกรรมภายนอกอาคาร หรือ วิ่งออกกำลังกายได้ปกติ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจจะเพิ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ถ้าเป็นความเสี่ยงระดับปานกลาง 4 – 6 กลุ่มเสี่ยงอาจจะต้องพิจารณา ถ้าหากมีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมภายนอกอาคาร ให้พิจารณาปรับรูปแบบกิจกรรม หรือหากปรับเปลี่ยนได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หากมีความจำเป็นต้องออกไป ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง อาทิ หน้ากากป้องกัน PM2.5 และลดระยะเวลาการออกไปสัมผัส
หรือหากพื้นที่ที่มีระดับความเสี่ยงระดับสูงมาก เกินกว่า 10 ขึ้นไป ทั้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มทั่วไป ควรจะอยู่ในพื้นที่หรือห้องที่มีการควบคุมคุณภาพอากาศ ในส่วนของสถานพยาบาล ควรมีการเพิ่มการแจ้งเตือนสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีนัดที่มีอาการคงที่ ไม่มีอาการรุนแรง หากเดินทางไปในพื้นที่วิกฤตมลพิษอากาศเพื่อพบแพทย์ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ควรมีระบบการส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในส่วนของสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีค่า AQHI อยู่ในระดับสูงมาก อาจพิจารณางดเว้นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมภายนอกอาคาร ควรจัดให้มีห้องควบคุมคุณภาพอากาศให้สำหรับกลุ่มเสี่ยง หรือปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมดหรือแบบผสมระหว่างการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องเรียน
อย่างไรก็ตามถือได้ว่าคนทุกกลุ่มวัยมีความเสี่ยงต่อการรับสารมลพิษทางอากาศ แม้กระทั่งคนที่มีร่างกายแข็งแรง เมื่อรับสารมลพิษมากขึ้น สารพิษเหล่านั้นส่วนหนึ่งจะเข้าไปสะสมในร่างกาย จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น ดังนั้นการรับรู้สถานการณ์โดยใช้เครื่องมือที่สามารถประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากมลพิษทางอากาศได้ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันตนเองของประชาชนทุกคน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews