สธ. ระดมจัดสรรเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม ปัดให้ผู้ป่วยรักษาที่บ้าน ย้ำเป็นแนวคิดกรณีหากเกิดการระบาดระลอก 4 เร่งหารถรับคนไข้โต้วัคซีนช้า
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ร่วมกับนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง แถลงข่าว ประเด็นสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามแผน แต่ที่ดูเหมือนน้อย เนื่องจากช่วงแรกได้รับวัคซีนมาในปริมาณที่จำกัด แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาพรวมถือว่า สามารถฉีดได้มากกว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าการที่ไทยได้วัคซีนช้า ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แต่กลับกัน การที่เราเจรจราเป็นผู้ผลิตโดยตรงทำให้ไทยได้รับวัคซีนตามแผน เนื่องจากขณะนี้พบว่าโครงการโคแว็กซ์ประสบปัญหาไม่ได้รับตามกำหนด โดยใน พ.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมที่จะเปิดให้มีการลงทะเบียน แสดงความจำนงค์เพื่อที่จะฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่มีความสมัครใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม
และ ระบบอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทาง ส่วนการฉีดคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน มิ.ย. 2564 นี้
ส่วนการบริหารจัดการเตียงนั้น ยืนยันว่าการที่ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่ใช่ประเด็นปัญหาเดียวกันกับ กรณีของเตียงไม่เพียงพอเสมอไป แต่เกิดจากปัญหาหลัก เช่น การตรวจแล็บของรพ.เอกชน ที่ผู้ป่วยเข้าทำการตรวจนั้น ไม่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล, โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ขยายเตียง, การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พบผู้ป่วยจำนวนมาก และ ผู้ป่วยรอฟังผลที่บ้าน ใช้เวลาประสานจัดการเตียง โดยปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน มีการเตรียมเตียงไว้รองรับผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว จำนวนทั้งหมดทุกประเภท 9,317 เตียง คงเหลือเตียงว่าง 3,023 เตียง พร้อมย้ำว่าผู้ป่วยทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยหลังจากนี้จะมีการเรียกคุยกับคลินิกที่รับตรวจโควิด-19 สำหรับดำเนินการทำ MOU กับโรงพยาบาล
เพื่อให้สามารถทำการส่งตัวผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวกเข้ารับการรักษาได้ทันที หลังพบคลินิกบางแห่งเมื่อแจ้งผลตรวจกับผู้ป่วยแล้วปล่อยให้คนไข้ไปดำเนินการติดต่อหาโรงพยาบาลเอง ซึ่งส่วนนี้ ก็ได้มีการดำเนินการเอาผิดไปแล้ว ควบคู่กับการเอาผิดคลินิคที่มีการโฆษณาอวดอ้างเกี่ยวกับการตรวจแล็บโควิด-19 ด้วย พร้อมสั่งการว่าหากพบมีการกระทำผิดซ้ำจะเพิกถอน หรือพักใช้ใบอนุญาต โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจโควิด-19 ทันที ก็เชื่อว่าจะทำให้สภาพปัญหาในเรื่องของคลินิกแล็บดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประสานในด้านของการจัดหารถพยาบาลไปรับผู้ป่วยหลังพบปัญหาไม่มีรถไปรับผู้ป่วย โดยล่าสุดได้ประสานหารถเพิ่มเติม เบื้องต้น มีจำนวน 50 คัน ในพื้นที่ กทม. ซึ่งหลังจากนี้จะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศต่อไป
สำหรับกรณีมีกระแสข่าวระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางให้ผู้ป่วยสามารถกักตัวดูอาการที่บ้านได้นั้น เบื้องต้น ยืนยันว่า มีการเตรียมแผนการดำเนินงานไว้จริง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในปัจจุบัน นี้ ซึ่งแผนดังกล่าวจัดทำขึ้นไว้รองรับกรณีหากมีการระบาดที่ 4 หรือ กรณีที่มีจำนวนผู้ป่วยในอัตราประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news