สธ.เร่งหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19
สธ.เร่งหาเตียง คาด 2 วัน คลี่คลาย ติง 74 คน ติดโควิดดื้อไม่ไปรพ. หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ยกกรณี “น้าค่อม” เป็นตัวอย่าง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ร่วมกัน แถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา – 2019 ประจำวันที่ 20 เม.ย. 64 ระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะพบปัญหาในด้านการจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณี เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้น แต่วันนี้ขอย้ำว่า สถานการณ์เตียง ได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยในระยะเวลา 2 วันนี้ ยืนยันว่าการจัดการเตียงทั้งหมดของผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม. ซึ่งมีปัญหาก่อนหน้านี้ จะเริ่มได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ยืนยันมีความพร้อมในการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณี
แต่สำหรับกรณีพบผู้ป่วย 74 คน ที่ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เบื้องต้น ยืนยันว่ามีเตียงว่างพอสำหรับผู้ป่วยทั้ง 74 ราย แต่ผู้ป่วยอาจมีความต้องการไม่ตรงกับที่ กระทรวงสาธารณสุขจัดให้
ส่วนนี้จึงอยากเน้นย้ำว่า หลักการของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้อง แอทมิด หรือ เข้ารับการรักษาในรพ., ฮอทพิเทล, รพ.สนาม ตามเกณฑ์เขียว เหลือง แดง เพราะไม่มีใครรับประกันสถานการณ์ขณะนี้ สมมติหากพบผู้ป่วยดื้อ ที่คิดว่าตนเองไม่มีอาการแล้วยังนอนอยู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ น้าค่อมชวนชื่น หรือ นายอาคม ปรีดากุล ตลกชื่อดัง ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 หลังร่วมงานกับ บอล เชิญยิ้ม ที่ก่อนหน้านี้ภายในเวลา 2 – 3 วัน เจ้าตัวเพิ่งให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์อย่างอารมณ์ดีไม่มีอาการ แต่ในวันนี้ต้องเข้าห้อง ICU ดังนั้นจึงไม่มีใครการันตีได้ หากไม่เข้ารับการรักษาหรือการดูแลของแพทย์ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
จึงอยากขอร้องให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าสู่ระบบ เพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ก็ยังขอความร่วมมือผู้ป่วยที่รักษาตัวในรพ.สนาม ให้เชื่อฟังระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเตียง รอรถมารับ หรือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กำลังรอฟังผลตรวจแล็บว่าบวกหรือลบ ขอความร่วมมือให้ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข 10 ข้อ
1.ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม ระหว่างแยกตัว
2.หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ
3.อยู่แต่ในห้องส่วนตัว
4.หากต้องเจอผู้อื่นต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและเว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร
5.กรณีแม่ยังต้องให้นมบุตรอยู่ ก็สามารถให้นมบุตรได้แต่มารดาควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือก่อนสัมผัสลูก 6.หากไอจาม ขณะสวมหน้ากากไม่ต้องเอามือมาปิดปาก
7.ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นแต่หากไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่ง
8.แยกของใช้ส่วนตัวไม่ใช่ร่วมกับผู้อื่น
9.ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น
10.ซักเสื้อผ้า, เครื่องนอนด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอกหากทำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news