อยู่บ้านเดียวกัน กักตัว 14 วัน ทำอย่างไร
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือสู้โควิด-19 ไปด้วยกัน และกรมควบคุมโรค
อยู่บ้านเดียวกัน กักตัว 14 วัน ทำอย่างไร
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงมีรายงานจำนวนยอดผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดจากเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด
จากการแพร่ระบาดของเชื้อที่รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่หลายคนยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และอยากทราบว่าต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมากเพียงใด จึงจะเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง
กรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดในสถานที่และเวลาเดียวกันกับ ผู้ป่วย โดยไม่มีการป้องกัน ได้แก่
- ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย
- ผู้ที่พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาที
- ถูกผู้ป่วยไอจามรด
- อยู่ในสถานที่แออัดร่วมกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร เกิน 15 นาที
หากอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงต้องทำการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อ ยังต้องแยกกักตัว 14 วัน และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้สัมผัสที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน และหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเดินทางไปตรวจทันที
แนวทางปฏิบัติเมื่อต้องกักตัว 14 วัน
- วัดอุณหภูมิทุกวัน ต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อยนาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดสมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- แยกห้องนอน ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งแยกทำความสะอาด หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้ใช้แผ่นพลาสติกกั้นห้อง และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- แยกรับประทานอาหารคนเดียว และล้างทำความสะอาดภาชนะให้เรียบร้อย
- แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดทันที กรณีใช้ชักโครกให้ปิดฝา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- แยกขยะเป็น 2 ส่วน คือ ขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ในแต่ละวันให้รวบรวม และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ ใส่ขยะที่แยกไว้ในถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป
- หากจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัย และเมื่อเสร็จธุระ ให้นำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และล้างมือทันที
การรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ดีที่สุด เริ่มจากตัวเราเองที่จะต้องดูแล และปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของเรา อีกทั้งยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตของมนุษยชาติที่ สสส. ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง รองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เร่งการทำงานให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพ ‘ไทยรู้สู้โควิด’ สร้างกระแสสังคมให้ทุกคน ลดความเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ลดพฤติกรรมเสี่ยงทำลาย สุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐอย่างเต็มที่
เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน สิ่งที่พวกเราทำ ได้ คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดูแลรักษาสุขภาพ งดไปพื้นที่เสี่ยง เดินทางออกนอกบ้านเท่าที่ จำเป็น ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท และตระหนักอยู่เสมอว่าเรื่องเล็ก ๆ ที่เราทุกคนกำลังพยายามทำอยู่ นั้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวของเราเอง แต่คือการสร้างความรับผิดชอบตัวเพื่อส่วนรวม เพื่อให้พวกเราทุกคนใช้ชีวิต ต่อไปได้อย่างดีที่สุด รวมทั้งเป็นการลดภาระ และร่วมส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และ สาธารณสุขที่เป็นหน้าด่านที่ยังคงทำงานหนักอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดด้วย
ผู้สนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการการดูแลและปฏิบัติตนในการป้องกันโควิด-19 สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่…www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news