สธ.จัดโซนหาเตียงยันสาวตายไม่โยงฉีดวัคซีน
สธ. จัด 6 โซนหาเตียงให้ผู้ป่วย โควิด ปัดปฏิเสธ Pfizer 4ครั้ง พร้อมยืนยันสาวตายไม่เกี่ยววัคซีน
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย โควิด -19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเจ้าภาพดูภาพรวมทั้งหมดที่ผ่านมาจะให้ทุกโรงพยาบาลส่งข้อมูลมายังส่วนการ ส่วนผู้ป่วยที่ นอน รพ. แต่ละแห่งจะส่งข้อมูลมา โดยแบ่งเป็น 13 เขตสุขภาพ ซึ่งกรุงเทพฯ จะนับเป็นเขตสุขภาพที่ 13 เพียงเขตเดียว
พบว่าทั้งประเทศ เตียงที่มีอยู่นั้น มีเตียงเพียงพอ ส่วน กทม. มี 12,000 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่แล้วประมาณ 8,000 เตียง หมายความว่ายังมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอีก 4,000 เตียง ส่วนความสงสัยว่าเหตุใดยังมีผู้ป่วยรองเตียงอยู่นั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เตียงที่มีอยู่ใน กทม. เป็นของเอกชน ซึ่งส่วนที่เหลืออยู่จะเป็นห้องรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ที่เป็นห้องความดันลบ ซึ่งทั้งสองส่วนมีผู้ป่วยแล้วประมาณ 80% จึงไม่ค่อยเหลือพื้นที่สำหรับผู้ป่วยรายใหม่
วันนี้จึงจะนำผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้า ICU ให้ออกมาอยู่หอผู้ป่วยธรรมดามากขึ้น และจะเพิ่มจำนวนห้องความดันลบทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนกรณีที่ป่วยรอเตียงนั้น เจ้าหน้าที่จะประเมินก่อนว่ารายใดอาการป่วยหนักเบามากกว่ากัน ซึ่งขณะนี้ได้แบ่งกรุงเทพฯออกเป็น 6 โซนได้แก่
โซนแรก คือ โรงพยาบาลราชวิถี และรพ.พระมงกุฎเกล้า จะเป็นหัวหน้าโซน คอยดูแลโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนในพื้นที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลของหัวหน้าโซน
ส่วนโซนที่ 2 จะมี รพ.จุฬาลงกรณ์ คอยดูแลในโซนใต้
โซนที่ 3 จะมี รพ.ธรรมศาสตร์และ รพ.ภูมิพล ดูแลโซนเหนือ
โซนที่ 4 จะมีรพ.รามาธิบดี ดูและด้านทิศตะวันออก
โซนที่ 5 คือ รพ.ศิริราช และโซนที่ 6 คือวชิรพยาบาล และมีเครือข่ายของโรงพยาบาลเครือเอกชนด้วย
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ว่า วัคซีน โควิด ที่ต้องจัดหาให้ได้ 100 ล้านโดสนั้น ยังคงเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ส่วนการผลิตวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้า จะตั้งฐานผลิตที่ไทยนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ไทยสามารถผลิตวัคซีนที่ออกมาจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้แล้ว ซึ่งจำนวนวัคซีนที่จะส่งมอบนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต ส่วนการเจรจาวัดหาวัคซีนระหว่างไทยกับ Pfizer รวมถึงข้อเท็จจริงที่มีการส่งต่อว่า Pfizer เคยเสนอขายวัคซีน ให้ไทยจำนวน 13 ล้านโดสนั้น ไม่เป็นความจริง
ซึ่งการซื้อวัคซีนจาก Pfizer นั้นต้องจ่ายเงินมัดจำก่อน และข่าวที่ระบุว่า Pfizer เคยเสนอขายวัคซีนให้รัฐบาลไทยถึง 4 รอบแต่ถูกปฏิเสธก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน ซึ่ง Pfizer เคยมาเสนอข้อมูลการวิจัยแต่ละระยะอย่างต่อเนื่องและไม่เคยมีการปฏิเสธการเข้าพบ จากเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการเก็บรักษา แต่ขณะนี้มีการพัฒนามากขึ้น การจัดเก็บและขนส่งสะดวกขึ้น มีข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และสามารถจัดส่งวัคซีนให้ไทยได้ภายในปี 2564 จึงมีการเจรจาเพื่อจองซื้อ
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีหญิงสาวชาวจังหวัดอ่างทอง อายุ 23 ปี เสียชีวิตหลังรับวัคซีนว่า ผู้เสียชีวิตมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร แต่มีที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี และประกอบอาชีพใน จ.สมุทรสาคร จึงเข้ารับวัคซีนจากโรงพยาบาลในจังหวัดดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 หลังฉีดไม่มีอาการอะไร วันต่อมาได้ทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ทราบชนิด ก่อนจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง และอาเจียนจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ก่อนมีอาการทางระบบประสาทเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
@inn_news สธ.เผยสาวตายไม่โยงฉีดวัคซีน พบกินอาหารเสริม-มีท่าทางแปลกๆ ยังรอผลชันสูตรเพิ่มเติม#สธ#วัคซีน#โควิด#ฉีดวัคซีน#สาวอ่างทอง#อาหารเสริม#INNNews #ข่าวtiktok
ซึ่งผลการสอบสวนและการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบประสาทปวดศีรษะรุนแรง แสดงท่าทางแปลก ๆ มีสัญญาณผิดปกติ ซึ่งเกิดหลังจากทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 30 นาที ซึ่งอาการดังกล่าวหากจะเกิดจากวัคซีน ควรจะเกิดหลังใช้เวลานานมากกว่า 4 วัน แต่รายนี้เกิดเพียง 1 วัน หลังฉีดวัคซีน จากข้อมูลดังกล่าว คณะผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่า ไม่ใช่การเสียชีวิตที่เกิดจากวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการชันสูตรอย่างละเอียด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news