Home
|
ทั่วไป

เช็คเลย!กทม.เปิด14จุดฉีดวัคซีนนอกรพ.เริ่ม1พ.ค.นี้

Featured Image
กทม. เปิด 14 จุด ฉีดวัคซีน นอกโรงพยาบาล ลงทะเบียนพร้อมกัน 1 พ.ค. นี้ คาดรองรับ ปชช. ได้วันละ 20,500 คน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนการให้บริการ ฉีดวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคอาทิ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต (พนักงานกวาดและเก็บขนขยะ) เจ้าหน้าที่ด่านท่าเรือคลองเตย เจ้าหน้าที่ในสถานกักตัวทั้งในส่วนของ SQ , ASQ และLQ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Hospitel รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชาชนทั่วไป โดยหน่วยบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ คือภายในโรงพยาบาล และหน่วยบริการนอกโรงพยาบาล

 

โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน จัดสถานที่ให้เป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล จำนวน 14 แห่ง ได้แก่

  • SCG บางซื่อ
  • เซ็นทรัลสาขาลาดพร้าว
  • เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ
  • โรบินสัน สาขาลาดกระบัง
  • โลตัส สาขามีนบุรี
  • สามย่านมิตรทาวน์
  • True Digital Park
  • ธัญญาพาร์ค
  • Asiatique
  • เซ็นทรัลสาขาปิ่นเกล้า
  • ICONSIAM
  • PTT Station พระราม 2
  • เดอะมอลล์สาขาบางแค
  • และ Big C สาขาบางบอน

ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้ รวมกว่า 20,500 คนต่อวัน โดยประชาชนสามารถเลือกหน่วยบริการ ที่ประสงค์รับบริการ ฉีดวัคซีนได้ทาง Line “หมอพร้อม” ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานพร้อมกัน 1 พ.ค.นี้

 

กทม.เปิด14จุดฉีดวัคซีนนอกรพ. -2

สำหรับคุณลักษณะของสถานที่ให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเดินทางสะดวก กรณีฉุกเฉินสามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ใน 10 นาที ตำแหน่งที่จัดตั้งต้องย้ายผู้ป่วยไปรถพยาบาลได้สะดวก มีพื้นที่เพียงพอตามหลักการป้องกันการติดเชื้อ มีจุดพักรอสังเกตอาการ 30 นาที มีที่นั่งรองรับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 100 ราย อากาศถ่ายเทดี มีห้องน้ำให้บริการ มีจุดล้างมือ และให้บริการ Internet หรือ wifi เพื่อรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นได้รับการประสานจากภาคเอกชนจะให้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

 

 

หอการค้าไทย เล็งชง รัฐบาล ข้อมูลความต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้พนักงาน พร้อม เชื่อมั่นประเทศไทยฝ่าวิกฤตได้แน่นอน

หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกาศการดำเนินงานด้านการจัดหาวัคซีนทางเลือก โดยระบุว่า จากการประชุมร่วมกับรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ (28 เม.ย.) รัฐบาลได้แสดงความขอบคุณที่หอการค้าไทย และภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมเสริมการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความพยายามในการจัดหาวัคซีนทางเลือก เพื่อฉีดให้กับพนักงานของตนเอง ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหามาเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของหอการค้าไทย ซึ่งเปิดรับแจ้งความประสงค์ของบริษัทเอกชน ที่ต้องการวัคซีนทางเลือก เพื่อฉีดให้กับพนักงานของตนเองนั้น หอการค้าไทยจะรวบรวมข้อมูลความต้องการดังกล่าวที่ได้มีการแจ้งเข้ามาแล้ว ส่งต่อให้กับภาครัฐ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดลำดับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม สำหรับในแต่ละพื้นที่ หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ต่อไป สำหรับการแจ้งความประสงค์ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานอื่น ๆ หอการค้าไทย ยังยินดีรับการสนับสนุนนั้น ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อไป

หอการค้าไทยและเครือข่ายยังเชื่อมั่นว่า หากคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังความสามารถ จะทำให้ประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤติ COVID-19 นี้ไปได้อย่างแน่นอน

 

อาคม ฉีดวัคซีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย คลังมีงบ 3.8 แสนล้านบาท พอรับมือผลกระทบโควิด-19 ยันยังไม่มีแนวคิดกู้เพิ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลัง ยังไม่มีแผนที่จะออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีงบประมาณในการดูแลสถานการณ์การระบาด ของโรคโควิด-19 อีก จำนวน 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 และในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่เหลือ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็น 99,000 ล้าน และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท จึงเพียงพอรองรับ

สำหรับการออกมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย. นั้น กระทรวงการคลัง ต้องขอติดตามสถานการณ์อีกระยะ เพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น แต่ถ้าจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี ผลกระทบก็จะลดลง

 

ตร.เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางแจ้งโควิด - ฉีดวัคซีน

ตร. เปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.แถลงข่าวเปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669, 1330 ของหน่วยงานทางการแพทย์ ให้สามารถรับแจ้งข้อมูลป่วยโควิด-19 ซึ่งจะมี 1,200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. โดยจะใช้ระบบ Government Big Data institute (GDBi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง DE พัฒนาร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ

ตร.เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางแจ้งโควิด

พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานหากมีผู้ป่วยโควิด-19 โทรมายังศูนย์ 191 (ศูนย์ผ่านฟ้า บช.น.) เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามที่กำหนดโดยกรมควบคุมโรค บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ทันที ซึ่งได้มีการทดสอบระบบแล้ว สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้อย่างดี หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการ Call Back ไปยังผู้แจ้งสอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับการบริการหรือยัง หากยังก็จะช่วยประสานอย่างใกล้ชิด สำหรับจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะประสานโดยตรงไปยังสาธารณสุขจังหวัดหรือหัวหน้าศูนย์ 1669 เพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย

ตร.เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางแจ้งโควิด

 

นอกจากนี้ ตร.ได้สนับสนุนเครื่องวิทยุให้กับ สพฉ.จำนวน 100 เครื่อง เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างรถรับส่งผู้ป่วย และ ศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ (1668, 1669 และ 191) และยังได้สนับสนุนรถในการรับส่งผู้ป่วยโดนการดัดแปลงรถควบคุมผู้ต้องขังจำนวน 5 คันพร้อมพลขับ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรับส่งผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาหรือกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะมีตำรวจร่วมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไปชี้แจ้งทำความเข้าใจ และเชิญตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคหรือหากผู้ป่วยเจตนาหลบเลี่ยงการติดต่อจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคตำรวจจะช่วยสืบสวนหาตัวผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาและดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบายไปยังผู้อื่นต่อไป

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube