Home
|
ทั่วไป

ศบค.ยกระดับ6จว.แดงเข้มคุมโควิด

Featured Image
ศบค. เคาะยกระดับมาตรการป้องกันโควิดกำหนดพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ห้ามรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน ควบคุมพื้นที่สีแดง 45 จังหวัด จาก 18 จังหวัด มีผล 1 พ.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ เพื่อหารือยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ

โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยภายหลังการประชุม  ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการเสนอและที่ประชุมมีมติเห็นชอบยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด 19

1.กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ และชลบุรี

โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน โดยมีมาตรการ คือให้สวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

-ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะ ของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

-สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้แต่ไม่มีผู้ชมในสนาม

-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และส่วนที่เป็น ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก งดการให้บริการ

-ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ใน เวลา 04.00 น.

-การงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรคการแพร่ระบาดของโรค

2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง มีจำนวน 45 จังหวัด จากเดิม 18 จังหวัด

มีมาตรการ ดังนี้ ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

-ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจานวนรวมกันมากกว่า 50 คน

-การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น.ในลักษณะของการนาไปบริโภคที่อื่น

-ห้ามการจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร และสถานที่จำหน่ายสุรา

-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดย ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

-ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิด ดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอด24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

-สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกาลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชม ในสนาม

-ให้มีการตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมของแต่ละพื้นตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. กำหนดและต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนกับประชาชนเกิน สมควรแก่เหตุ

-ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแล การให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบ และระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ ที่ ศปก.ศบค. กำหนด

 

 

3 พื้นที่ควบคุม สีส้ม จังหวัด รวม 26 จังหวัด จากเดิม 59 จังหวัด

โดยมีมาตรการ คือ ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

-ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจานวนรวมกันมากกว่า 50 คน

-การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.

-การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

-การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ ศปก.ศบค. กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนกับประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

-ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการ ขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค. กำหนด

นอกจากนี้ให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการเอกชนพิจารณาดำเนินการ work from home มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคล อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยการลดการแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ได้ประกาศล็อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวเป็นเพียงการขอความร่วมมือ สิ่งที่จะช่วยได้คือการ work from home

โดยมาตรการทั้งหมดนี้ จะกำหนดใช้ในเวลาเที่ยงคืน ของวันที่ 1 พฤษภาคม นี้

ซึ่งที่ประชุม ศบค. ปรับการยกระดับ มาตรการการป้องกัน โดยแบ่งปรับระยะเวลาการกักตัวเป็น 14 วันสำหรับผู้เดินทางมาในราชอาณาจักร จากที่ปรับเป็น 7 หรือ 10 วันให้ปรับมาเป็น 14 วันทุกประเภท และไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพัก ยกเว้นเพื่อทำการตรวจหาเชื้อและรักษาพยาบาล แต่สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 หรือผู้ที่ได้รับอนุมัติก่อนวันที่ 1 พ.ค.64 และเดินทางถึงราชอาณาจักรนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.64 เป็นต้นไปจะต้องตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

 

 

 

ศบค. มั่นใจฉีดวัคซีน ประชาชน เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ขณะ สธ. ขอให้อนุมัติหลักการให้ภาครัฐและภาคเอกชนจัดหาวัคซีนที่หลากหลาย

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยว่า เรื่องการจัดหาวัคซีน สำหรับประชากร 70 ล้านคน ต้องได้รับวัคซีน 70% ซึ่งเป็นแผนที่เห็นชอบ หรือได้รับประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งจะใช้วัคซีนทั้งหมด 100 ล้านโดส โดยประเทศไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส จึงต้องจัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส สำหรับประชากรในประเทศจำนวน 18.5 ล้านคน

โดยต้องหาให้ได้ทันและเพียงพอ และเข็มที่ 2 เสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. ปี 64 ซึ่งหากสามารถจัดหาวัคซีนได้ 20 ล้านโดส 2 เดือนจะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานสถานการณ์ อาชีพเสี่ยง ตำรวจ ทหาร พนักงานขับรถสาธารณะ ครู ประชาชนที่มีโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป แผนต่างๆถูกวางไว้ทั้งหมดแล้ว โดยขอเน้นย้ำความมั่นใจ ว่า จะมีการฉีดให้แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ โดยใช้บริการที่จะฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลจำนวน 1,000 แห่ง แห่งละ 500 ถึง 1,000 โดสต่อวัน ซึ่งจะสามารถฉีดได้ 100 ล้านโดส ภายใน 4 ถึง 7 เดือน ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่เปราะบาง โดยจะต้องให้มีการจัดจุดบริการต่างๆ

รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เสนอเรื่องเพื่อให้พิจารณาใน 3 ข้อ ประกอบด้วย แผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส, โครงการการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 18.5 ล้านคน 37 ล้านโดส และขออนุมัติหลักการให้ทางภาครัฐและเอกชน สามารถจัดหาวัคซีนได้ ทั้งไฟเซอร์ จำนวน 5 – 20 ล้านโดส, ซิโนแวค 5-10 ล้านโดส, สปุตนิก วี จำนวน 5-10 ล้านโดส, Johnson & Johnson จำนวน 5 – 10 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆเช่น moderna ชิโนฟาร์ม Bharat และวัคซีนอื่นๆที่มีการขึ้นทะเบียนในอนาคต

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube