สสส. คลอด “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” ชี้คนไทยควรอ่านก่อนฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. นี้ แนะเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งก่อน-หลังฉีด ลดกังวล คลายทุกปม เข้าใจอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ ดาว์นโหลดได้แล้ววันนี้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้จัดทำ “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ และมีความรู้ที่เพียงพอในการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยคู่มือฉบับนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สสส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวบรวมแหล่งข้อมูลที่ครบทุกเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนที่ประชาชนควรได้อ่านก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้รู้และเข้าใจวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน ซึ่งตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย จะเริ่มฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2504) และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย
1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด
3.โรคหลอดเลือดสมอง
4.โรคไตเรื้อรัง
5.โรคมะเร็งทุกชนิด
6.โรคเบาหวาน
7.โรคอ้วน
โดยเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. – 31 ก.ค.2564 ส่วนการฉีดวัคซีนระยะที่ 3 เริ่มฉีดเดือน ส.ค. 2564 ให้กับประชาชนทั่วไปช่วงอายุตั้งแต่ 18-59 ปี การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้กับสังคมไทย
“ที่ผ่านมามีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมาก ทั้งในเชิงวิชาการ วัคซีนทำงานอย่างไร เชิงทางการแพทย์ วัคซีนกับการจัดการโรคระบาด รับวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อ หรือ แพร่เชื้ออีกหรือไม่ ก่อน ระหว่าง หลัง การรับวัคซีนโควิดควรทำตัวอย่างไร เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จัดการอย่างไร ป่วยเป็นโรคอะไรบ้างที่รับวัคซีนได้ หรือ กลุ่มไหนที่รับวัคซีนไม่ได้ และลงทะเบียนรับวัคซีนได้ที่ไหน คำถามเหล่านี้จะมีคำตอบในคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ ที่เข้าใจง่าย คลายข้อสงสัย และความวิตกกังวล ซึ่งสสส. จัดทำในรูปแบบรูปเล่ม และแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คนในสังคมไทยได้เข้าถึงมากที่สุด และสามารถดาวน์โหลดได้แล้วในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ดร.สุปรีดา กล่าว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อม ก่อนระหว่าง และหลังการฉีดวัคซีน มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและขั้นตอนการรับบริการให้เข้าใจ
2.สำรวจตนเองหากมีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีนควรแจ้งขอเลื่อนการฉีดออกไปก่อน
3.เมื่อถึงวันนัดหมาย ควรไปถึงสถานที่ฉีดก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที
4.ตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวบุคคลลงทะเบียนผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ในโทรศัพท์มือถือให้เรียบร้อย
5.ให้ข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียดและถูกต้อง เช่น ประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
6.หลังได้รับวัคซีนควรเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างน้อย 30 นาที
7.เมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกควรเตรียมตัวสำหรับการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และ
8.ทุกคนต้องสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือทั้งก่อน ระหว่าง หลัง การฉีดวัคซีน
นพ.นคร กล่าวต่อว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นได้กับการฉีดวัคซีนทุกชนิด ถือเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เป็นสัญญาณแสดงว่า ร่างกายกำลังถูกกระตุ้นให้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน คือ 1.อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป ได้แก่ ปวด บวม มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่หายได้เองใน 24-48 ชั่วโมง บรรเทาได้ด้วยการกินยาลดไข้ แก้ปวด พักผ่อน ดื่มน้ำ และ 2.อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองวัคซีนมากเกินไป มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากอาจเกิดกับผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน มักเกิดภายใน 30 นาที หลังการฉีด อาการที่พบ ได้แก่ ไข้สูงกินยาก็ไม่ลด หน้ามือเป็นลม ความดันเลือดต่ำ แน่นหน้าอก หายใจขัด รักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนแล้วถือว่าผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ก่อผลข้างเคียงรุนแรง หรือพบในอัตราที่ต่ำมาก
ทั้งนี้ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ หรือดาว์นโหลดได้ที่ http://ssss.network/2uq08 และติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด
คลิปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด
1. วัคซีนโควิด 19 ทำหน้าที่อย่างไร?
2.อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีน น่ากลัวหรือไม่?
3.วัคซีนจะช่วยให้วิกฤติโควิดจบได้อย่างไร?