เตรียมตั้งรพ.สนามในพื้นที่สีเหลือง-เร่งกระจายวัคซีน
ศบค. เผย เตรียมตั้ง รพ.สนาม ในพื้นที่สีเหลือง เนื่องจากมีแนวโน้มต้องการเตียงพุ่งสูงขึ้น ด้านการฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิดหากติดขัดโทร 1765 เร่งกระจาย วัคซีน ให้มท.
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 หรือ ศบค. เผยว่า รายงานจากกรุงเทพมหานคร พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร เกิน 500 ราย มาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. และพุ่งทะแยงสูงขึ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยอาการหนักในวันที่ 6 พ.ค.64 จำนวน 496 ราย เพิ่มขึ้นจากวันที่ 5 พ.ค. จำนวน 466 ราย จึงมีแผนที่จะมีการติดตั้งระบบต่างๆ ใน รพ.สนาม
โดยจำนวนเตียงที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนักไม่ใช่แค่พื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่จะต้องนำ 5 จังหวัด คือ จังหวัดนนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม และปทุมธานี มารวมด้วย เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
ส่วนเรื่องสถานที่ฌาปนกิจศพ ซึ่งมีประเด็นดราม่าในบางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ทางกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม แจ้งว่าหากมีอะไรติดขัดให้แจ้งไปที่เบอร์ 1765 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดพื้นที่ในการประกอบศาสนกิจให้ได้
โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในการประชุม eoc ของกระทรวงสาธารณสุข มีการระบุว่า พื้นที่สีแดง สีเหลือง มีความสำคัญยิ่งที่จะเพิ่มขึ้นก่อน คือ สีเหลือง จะมีการติดตั้งระบบต่างๆ ที่ รพ.สนาม ซึ่งสามารถจุเตียง ได้มากกว่า 1,000 เตียง เพราะขณะนี้แนวโน้มความต้องการเตียงที่เป็นลักษณะของผู้ป่วยหนัก ยังมีความต้องการเตียงจากนี้ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค.
ซึ่งมีแนวโน้มพุ่งขึ้นดังนั้นจึงต้องมีการสร้างเตียงที่อยู่นอกโรงพยาบาล โดยมีการมองไว้ว่าจะตั้งโรงพยาบาลสนามที่ศูนย์การประชุมที่อยู่แถวแจ้งวัฒนะ
ส่วนการประชุมของศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ผู้แทนจากศูนย์อนามัย ได้แจ้งตัวเลขเขตต่างๆ 10 อันดับที่มีผู้ป่วยรายวันสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. อาธิเขตคลองเตย จำนวนผู้ป่วย 46 ราย, ปทุมวัน 24 ราย, บางแค 24 ราย, ลาดพร้าว 13 ราย, ราชเทวี 10 ราย, ป้อมปราบศัตรูพ่าย 9 ราย, บึงกุ่ม 9 ราย, ภาษีเจริญ 8 ราย, บางขุนเทียน 8 ราย และดินแดง 8 ราย
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเขตบางแค ได้มารายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตบางแค ซึ่งยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.- 6 พ.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 855 ราย คลัสเตอร์ที่ผลระยะควบคุมจำแนก เป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารย่านบางแค 57 ราย เหตุเกิดมาจากย่านสถานบันเทิง คลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังโรคย่านตลาดบางแค 485 ราย
และคลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างการควบคุมโรค คือ ชุมชนบ้านขิงเดอะมอลล์บางแค, ซอยเพชรเกษม 84 และหมู่บ้านทวีโชติ 191 ราย ซึ่งวันนี้มีการทำงานเชิงรุกไปในหลายพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีการนำแผนกระจายวัคซีน ซึ่งทางที่ประชุมได้ทราบข้อมูลการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการวางแผนตั้งแต่เดือนพ.ค.- ธ.ค.64 โดยที่ประชุมพิจารณาว่าเป็นไปตามแผนเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ที่ทางกระทรวงกำหนดขึ้นและตรงตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ให้นโยบายเอาไว้ รวมถึงได้มีการเชื่อมประสานกับกระทรวงมหาดไทย โดยนำแผนดังกล่าวส่งต่อให้ทางจังหวัด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งทีมทำงานร่วมกันในระดับปฏิบัติระดับจังหวัด
สปสช. แจงปมค่ารักษาโควิดหลักแสน เป็นแค่การแจ้งค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ย้ำ ไม่ได้จ่ายจริง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์ จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ชี้แจงถึงกรณีที่โซเชียลแชร์ข้อมูลคนไข้ โพสต์ค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 หลักแสนบาท
ว่าเรื่องนี้ได้ตรวจสอบแล้ว โดยโรงพยาบาลเอกชนเพียงแค่แจ้งค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น และในข้อเท็จจริงไม่ได้จ่ายจริง ซึ่งกรณีนี้ได้เบิกกับ สปสช.
ส่วนภาวะแทรกซ้อนหลังการฉีกวัคซีน ก็สามารถเข้ารับรักษา และเบิกตามนิยามผู้ป่วยโควิด-19 ได้ และการเบิกจาก สปสช. แยกต่างหากกับประกันส่วนตัว ทั้งนี้พบว่า ในกทม. ผู้ป่วย 2 ใน 3 ไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้านอัตราค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน เบื้องต้นสาธารณสุขได้รับการร้องเรียนถึง 44 เรื่อง บางส่วนเรียกเก็บไว้ก่อน บางส่วนเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อพูดคุยกัน ก็คืนเงิน และเข้าใจกันดี
ส่วนที่ร้องเรียนมายัง สปสช. โดยตรง ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการเรียกเก็บค่าตรวจคัดกรอง โดยไม่มาเรียกเก็บจาก สปสช. และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 หลายแสนบาท บางราย สูงถึง 8-9 แสน โดย นพ.จเด็จ ยืนยันว่า หากค่ารักษาพยาบาลอยู่ในรายการนั้น สามารถเบิกได้หมด ในกรณีคนไข้ประเภทสีเขียว เราเคยจ่ายหลักแสน ขณะที่ คนไข้ประเภทสีแดง เคยจ่ายถึง 1 ล้านบาท ก็มีหากถูกเรียกเก็บ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน สปสช. 1330
ทั้งนี้ สปสช. ปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลจาก 1 เดือน ต่อครั้ง เป็น 15 วันครั้ง งวดแรกที่เริ่มปรับปรุงระบบ เฉพาะวันนี้ จ่ายไปแล้ว 2,000 กว่าล้านบาท ทั้งรโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ขอให้มั่นใจไม่ต้องกลัวว่า สปสช. จะไม่จ่าย ย้ำเงินมีและจ่ายเร็ว
กต. ยัน อนาคตรัฐบาลฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทยทุกคน ไม่จำกัดสัญชาติ อยู่ระหว่างทำระบบลงทะเบียน
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงแนวทางการจัดสรรวัคซีนให้ชาวต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย ยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนฉีดวัคซีนให้คนทุกกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ แต่เนื่องจากการฉัดวัคซีนช่วงแรก มีวัคซีนจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรให้ผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในสถานที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการฉีดอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยและจะได้รับวัคซีนในกลุ่มแรกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนด้วยนั้น เช่น ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ
ส่วนการฉีดในกลุ่มที่ 2 ซึ่งจะเริ่มเดือน มิ.ย. ถึงสิ้นปีนี้ ได้แก่ กลุ่มสาธารณชน ผู้ที่ทำงานในภาครัฐ คณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทย โดยคำนึงถึงความสมัครใจของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดทำระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news