AstraZeneca ล็อตแรกที่ผลิตจากบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ผลิตในประเทศไทย ที่จะเป็นวัคซีนหลักได้ถูกส่งมอบแล้วจำนวน 1.8 ล้านโดส และจะเริ่มกระจายฉีดวันที่ 7 มิถุนายนนี้ แต่ก็ยังมีข่าวหลาย รพ.เลื่อนฉีดออกไป ยังไงก็ต้องรอติดตาม อย่างไรก็ตามในเมื่อเป็นวัคซีนหลักก็เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก และย้ำกันอีกทีกับวัคซีน AstraZeneca ว่าดีไหม มีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า
AstraZeneca ดีไหม?
วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา หรือ AZD1222 เป็นวัคซีนที่คิดค้นโดยบริษัทแอสตราเซเนกากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
แอสตราเซเนกาใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector vaccine) หรือวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อแบบธรรมชาติเพื่อทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส แตกต่างกับซิโนแวคที่ใช้เชื้อที่ตาย
หากถามว่าดีไหม ในทางการแพทย์ไม่มีวัคซีนตัวไหนสมบูรณ์และดีไป 100% เพราะฉะนั้นให้ใช้ตัวเลขในการพิจารณาน่าจะเหมาะสมกว่า
- ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 85-90%
- ป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบ 54.1%
- ป้องกันอาการรุนแรง ตรงนี้ยังไม่มีข้อมูลในประเทศไทย แต่หากอ้างอิงจากต่างประเทศก็ 100% เหมือนซิโนแวค
- การฉีดเข็มแรกของAstraZeneca มีการพบภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ราวๆ 47.5 ยูนิต/มล. ซึ่งถือว่าเยอะกว่าซิโนแวคมากพอสมควร (ซิโนแวคเข็มแรกอยู่ที่ 1.9 ยูนิต/มล.)
- มีผลรายงานว่าสามารถต้านโควิดสายพันธุ์อินเดียได้
หากมองภาพรวมง่ายๆประสิทธิภาพของ AstraZeneca นั้นก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเลยทีเดียว
AstraZeneca ผ่านการรับรองหรือยัง?
- ผ่านการรับรองจาก อย. แล้ว ผ่านการรับรองจาก WHO หรือองค์กรอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว
- สำหรับ แอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทย โดยสนามไบโอไซเอนซ์ก็ได้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของ AstraZeneca ในยุโรปและสหรัฐเรียบร้อยแล้ว
ฉีดกี่เข็ม
- 2 เข็ม(2 โดส) ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
ผลข้างเคียงที่พบหลังฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca) (ที่อาจพบได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล)
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- มีไข้ คลื่นไส้
- บางรายมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด
เหมาะกับใคร
เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเห็นข่าวที่บางประเทศแนะนำให้คนอายุน้อยหลีกเลี่ยงการฉีด แอสตราเซเนกา ซึ่งก็เป็นข่าวจริง เรามาอ่านรายละเอียดสั้นๆเพิ่มสักนิด
- หลีกเลี่ยงกรณีมีวัคซีนอื่นที่เป็นทางเลือกและไม่ทำให้การรับวัคซีนต้องล่าช้าออกไป
- โอกาศเกิดลิ่มเลือดในคนอายุ 30-39 ปี คือ 1 ต่อ 60,000 ในขณะที่ 40-49 ปีอยู่ที่ 1 ใน 100,000
- ข้อดียังมีมากกว่าความเสี่ยง
ส่วน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง ที่เราคุ้นเคยกันเคยออกมาให้ความเห็นว่า หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้เตรียมยาพาราเซตามอลไว้ได้เลย อาการไข้ขึ้นหรือบางคนมีอาการบวมแดงตรงบริเวณฉีดถือเป็นปฏิกิริยาของวัคซีนที่พบได้ทั่วไป อาการดังกล่าวจะอยู่แค่ชั่วคราว โดยทั่วไปจะมีไข้อยู่ 21 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 2 วัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news