บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่แพ้วัคซีนโควิด
บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ สนับสนุนหน่วยบริการการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือ “ภาวะ VITT”
สำหรับภาวะ VITT หรือ Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia จะแสดงอาการหลังจากได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน โดยอุบัติการณ์ของภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 1 : 125,000 – 1 : 1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีน
นายอนุทิน กล่าวว่า แม้ว่าภาวะ VITT จะมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก แต่ สปสช. ก็ต้องการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมเพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชนทุกคนในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ว่าหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น จะได้รับการดูแลทั้งกระบวนการ ทั้งนี้ หากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4-30 วัน มีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น แนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดย สปสช. จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้
ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ใหม่นี้ จะครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ได้แก่
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง CBC
- การตรวจวินิจฉัย Heparin-PF4 antibody (lgG) ELISA assay
- การตรวจวินิจฉัย Heparin induced Platelet activation test (HIPA)
- ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG)
ซึ่งให้เบิกจ่ายตามระบบ VMI โดย สปสช. คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 9.28 ล้านบาท
สำหรับยา IVIG สำหรับรักษาภาวะ VITT นั้น ไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงต้องเบิกจ่ายผ่านโปรแกรมยา จ2 ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาบริการ โดย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยา และคณะทำงาน AEFI ที่จะดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่
- พัฒนาหน่วยตรวจให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพของประเทศ
- ติดตามข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด VITT
- ประเมินประสิทธิผลของยา IVIG
และหลังจากที่ได้ดำเนินการครบระยะเวลา 1-2 ปี ให้มีการทบทวนสิทธิประโยชน์ในกรณีนี้อีกครั้ง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news