Home
|
ทั่วไป

เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด-19 แพ้แบบไหนถึงได้เงินชดเชย

Featured Image

          เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด-19  เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนสงสัยหลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนและเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี หากดูจากยอดคนที่ไปฉีดวัคซีน 

          แต่คำถามสำคัญที่หลายคนยังคงสงสัยคือ หากมีอาการแพ้วัคซีนโควิดแบบไหนรัฐถึงจะช่วย แบบไหนถึงจะได้เงินชดเชย เพราะจากข่าวมักจะเห็นคนที่ฉีดแล้วมีอาการไข้ขึ้น บางรายดูมีอาการหนัก วันนี้ ไอ.เอ็น.เอ็น มีสรุปมาฝากพร้อมมาไขคำตอบให้ทุกคนแล้ว 

          ข้อมูลนี้อ้างอิงจาก สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวเลขที่เปิดเผยล่าสุดแจ้งว่า ชดเชยไปแล้ว 239 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,016,700 บาท เป็นกรณีเสียชีวิต 4 ราย (อ้างอิงตัวเลขวันที่ 4 มิถุนายน ฉีดไปแล้ว 3,961,589 โดส) 

          สำหรับอาการแพ้วัคซีน ส่วนใหญ่มากกว่า 50% มีอาการชา นอกนั้นจะมีอาการอื่นๆเช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย บางครั้งอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 

          เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด มีขึ้นเพื่ออะไร?

          เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล กรณีแพ้ผลข้างเคียงจากการแพ้วัคซีนโควิด 

          หลักเกณฑ์ในการเยียวยา 

          เงื่อนไขรับการเยียวยา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลข้างเคียง หรือเกิดความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด ตั้งแต่บาดเจ็บ พิการ ไปจนถึงเสียชีวิต หรือเป็นอาการบาดเจ็บต่อเนื่อง เช่น อาการชา จนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ต้องหยุดงาน เสียเวลารักษาตัวก็เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาเช่นกัน 

          โดยหากรู้สึกเกิดผลข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ถึงแพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่หากสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินเข้ามาได้เช่นกัน 

*อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่น ปวดแขน มีไข้ต่ำ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีน อาการเหล่านี้อาจไม่เข้าข่ายการรับเยียวยา 

          หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น (ย้ำว่าเบื้องต้น) แบ่งง่ายๆ 3 ระดับ

1.มีอาการบาดเจ็บป่วย ต้องรักษาต่อเนื่อง 

  • จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท

2.เกิดความเสียหาย บาดเจ็บ ป่วย ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ พิการ

  • จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท

3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร 

  • จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท 

          ยื่นขอเงินเยียวยาได้ทางไหนบ้าง

  1. โรงพยาบาลที่ไปฉีดวัคซีน
  2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
  3. สปสช. เขตพื้นที่ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ 

          ใครเป็นผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้อง

  1. ผู้รับวัคซีน 
  2. ทายาท 
  3. ผู้อุปการะ 
  4. โรงพยาบาลที่ให้บริการ

          ยื่นได้ตอนไหน

          หากคิดว่ามีผลข้างเคียงสามารถยื่นได้เลย สามารถยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี หลังวันที่ทราบความเสียหาย จะมีการพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน 

          หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถโทรสายด่วน 1330 ทาง สปสช. ยังย้ำอีกว่า ไม่ได้พิสูจน์ว่าถูกผิด ว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่ช่วยเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น สามารถติดตามอัพเดทข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น. 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูล 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube