สสส. ร่วมกับ โคแฟค จัดเวทีระดมความคิดนักวิชาการ-นักสื่อสารถกปัญหา “ความจริง-ความเชื่อ” พร้อมหาทางออกวิกฤติขัดแย้งในโลกดิจิทัล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โคแฟค (Cofact) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 16 “กาลามสูตรในยุคดิจิทัล : เส้นบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ” ระดมความคิดจากนักวิชาการและวิทยากรจากหลากหลายสาขา ร่วมกันถกปัญหา สร้างความเข้าใจโลกการสื่อสารยุคดิจิทัลที่มีทั้งความจริงและความเชื่อ พร้อมชี้ทางออกสังคม หยุดปัญหาความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ที่กำลังวิกฤติด้วยการเปิดใจรับฟังกันและกันอย่างสันติ
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ” ในปัจจุบัน ข่าวสารมักแพร่กระจายขัดแย้งกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อเกิดการแก้ไข ประชาชนก็จะเกิดความสับสนว่าจะเชื่อส่วนไหนดี? สิ่งสำคัญคือการวางรากฐานกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับกัน นั่นคือคนเรามักจะเชื่อข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ เพียงเพราะตรงกับทัศนคติของตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวเราทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายในการสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งการสื่อสารในยุคดิจิทัล จึงได้ผสานการทำงานกับภาคีเครือข่ายโคแฟคอย่างเข้มแข็ง โดยเวทีวันนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยให้เราได้ร่วมกันค้นหาคำตอบว่า ข้อเท็จจริงมีความหมายและมีคุณค่ามากกว่าความเชื่ออย่างไร”
พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ. IBHAP) ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง หลักกาลามสูตรเพื่อสันติในยุคดิจิทัลว่า “หลักกาลามสูตรมีทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ฟังกันมาอย่าเพิ่งเชื่อ 2. ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อไม่ได้ 3. ตื่นเขาเล่ามาอย่าเชื่อไป 4. อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา 5. อย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น 6. เพราะกะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า 7. เพราะนึกตรึกตรองและตรวจตรา 8. เพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน 9. อย่าเชื่อเพราะว่าเพียงคนเชื่อเขา 10. อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครู เป็นคนที่เคารพนับถือ ในปัจจุบันนี้คนมีความเห็นความเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ได้รับและการเลือกที่จะเชื่อ ซึ่งหลักกาลามสูตรทั้ง 10 นี้ ต้องใช้พื้นฐานการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ติเตียนโดยผู้รู้ และการรู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเกิดโทษ ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหน ก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเปิดพื้นที่ใจ เปิดพื้นที่ความจริง จะทำให้เราอยู่ด้วยกันรอด อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว”
ด้าน รณพงศ์ คำนวณทิพย์ ผู้ก่อตั้ง Media Oxygen กล่าวในการเสวนาหัวข้อ อะไรคือเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ ว่า “ในแง่ของตรรกะ ถ้าอะไรที่ไม่จริงก็คือความเท็จ แต่ความเชื่อมันคือสิ่งที่คนยึดถือโดยที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง พิสูจน์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งถ้ามีข้อพิสูจน์แล้วก็จะทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่จริง แต่บางอย่างเป็นความจริงที่ละเอียดอ่อน และบางส่วนก็อาจเปลี่ยนไปได้ด้วยบริบทที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นบางข้อมูลอาจจะเคยจริง แต่พอเวลาผ่านไปก็อาจจะไม่จริงก็ได้ ดังนั้น การแชร์ข้อมูลต่างๆ ต้องคิดก่อนแชร์ว่าเนื้อหามาจากไหน ผลิตเมื่อไร อย่างไร การ Cross-Check ในสื่อก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะการกดแชร์แค่ครั้งเดียว อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด สิ่งที่ต้องคำนึงคือการแชร์แต่ละครั้งมันทำให้คนแตกแยกไหม? หรือเป็นความจริงด้านเดียวหรือไม่? ถ้าแชร์ไปแล้วเกิดความแตกแยกก็อย่าแชร์จะดีกว่า”
ขณะที่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาหัวข้อ เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermeditation) ได้หรือไม่? ว่า “ความขัดแย้งในโลกออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ แต่เดิมความคิดของเราจะอยู่ในหัว แต่ปัจจุบันความคิดถูกสื่อสารออกมาอย่างรวดเร็วผ่านตัวอักษร ทำให้เกิดความเสียหายต่อจิตใจไปจนถึงร่างกายเลยก็ได้ หลายคนรับความขัดแย้งเข้ามาจนส่งผลให้เกิดการทำร้ายตนเองก็มี เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหา วัฒนธรรมที่ควรถูกปลูกฝัง คือการรับฟังกันและกัน โดยที่ไม่เหยียดความคิดของคนอื่นที่แตกต่างกัน การรับฟังกันระหว่างรุ่น สร้างกระบวนการหาจุดร่วมให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกันและกัน ก้าวข้ามจุดที่ตนเองเคยอยู่เพื่อรับฟังเนื้อหา และสร้างกรอบในการพูดคุยกันให้เกิดจุดร่วมกันมากที่สุด ที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย สิทธิและเสรีภาพ ทั้งนี้หวังว่าเวทีแห่งนี้ จะเป็นอีกทิศทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เกิดการรับฟังกันและกันต่อไปมากขึ้นในอนาคต”
กิจกรรมเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 16 “กาลามสูตรในยุคดิจิทัล : เส้นบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ” เป็นหนึ่งในโครงการที่ สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โคแฟค (Cofact) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสังคมสุขภาวะไปด้วยกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news