ป.ป.ช.พบสื่อ แจงผลคะแนน ดัชนีการรับรู้การทุจริต ยันเดินหน้าตรวจสอบเต็มที่ พบตัวเลขภาพรวมทุจริตลดน้อยลง
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในงานเสวนา ป.ป.ช.พบสื่อ ว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนน ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 โดยประเทศไทย มีค่าคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 36 คะแนน อันดับอยู่ที่101 ในปี 2562 ในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 110 ซึ่งคะแนนอยู่ในระดับเดิม ส่วนนี้คือมุมมองของต่างชาติ
แต่ในขณะที่ข้อมูลในประเทศที่ป.ป.ช.ดำเนินการทั้งหมด ในปี 62 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 10,556 เรื่อง ความเสียหายที่เกิด จากคำร้องเรียน 236,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ในปี 2563 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 9,100 กว่าเรื่อง และความเสียหายที่เกิด จากคำร้องเรียน 90,716 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำร้องเรียนและค่าความเสียหายลดน้อยลง ซึ่งมองว่าการทำงาน ของป.ป.ช. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่เมื่อส่งฟ้องศาลแล้ว การดำเนินการของศาลก็มีความรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นก็มีประชาชนและภาคเอกชนคอยเป็นหูเป็นตาในการส่งข้อมูลต่างๆ จึงทำให้เห็นได้ว่าการตัวเลขในภาพรวมการทุจริตลดน้อยลง
ส่วนในปี 2564 ด้วยสถานการณ์โควิดเข้ามาทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้หนักขึ้น มีการประชุมกันทุกวัน ซึ่งทุกเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาก่อน 21 กรกฎาคม 2561 จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันที่22 กรกฎาคม 2564 เพราะเป็นกรอบระยะเวลาการพิจารณาคดีของป.ป.ช.ว่าจะต้องพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
ปปช.แจงสอบสวน 15 คดีสำคัญ ชี้มูลความผิดแล้ว 4 บริหารจัดการน้ำปี 56, นปช.ปราศรัยปี 57 ก่อสร้างฝาย, เปลี่ยนแผนผัง โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ
นายวรวิทย์ ได้กล่าวถึง 15 คดีที่สำคัญของป.ป.ช. ว่า
- คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศปี 2556 ไม่มีมูลและพิจารณาให้ตีตกไป
- คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี 2557 ได้มีการชี้มูลไปแล้ว
- คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ ได้มีการชี้มูลความผิดกับเจ้าหน้าที่บางรายไปแล้ว
- คดี การอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ได้มีการชี้มูลเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว
- ทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ภาค2 มีผู้ถูกกล่าวหา 71 รายได้ ไต่สวนไปแล้วกว่า 50 ราย และยังมีอีกหลายรายที่อยู่ในการพิจารณา คาดว่าคดีนี้จะแล้วเสร็จในต้นปี 65
- คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 81 ราย ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วบางส่วน อีกทั้งยังมีพยานอีก 75 ราย เนื่องจากคดีนี้มีพยานและผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมากคาดว่าคดีนี้จะแล้วเสร็จในต้นปี 65 เช่นกัน
- คดีเงินทอนวัด เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในหลายท้องที่ทั่วประเทศไทย มีทั้งหมด 98 คดี เสร็จแล้ว 52 คดีเหลือ 46 คดี ทุกคดีที่เหลือจะต้องมีการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 22 กรกฎาคมนี้ และมีคดีที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีก 5 คดี แต่จะแล้วเสร็จภายในกันยายนนี้
- คดีทุจริตเรื่องของการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด gt200 และอัลฟ่า6 มีทั้งหมด 33 คดี เสร็จไปแล้ว 7 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 26 คดี ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้
- คดีทุจริตสนามกีฬาฟุตซอล มีทั้งหมด 28 คดี เสร็จแล้ว7 คดี เหลือ 21 คดี
- คดีทุจริตการรับเงินจากผู้นำเข้าเครื่องยนต์อิสระทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง(รถหรู) ได้มีการชี้มูลไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนการสืบพยานในศาล
- คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ถูกกล่าวหาเบื้องต้น 9 รายในระหว่างการไต่สวนพบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดอีก 7 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายงานการไต่สวน โดยในกรณีนี้มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยทำให้การทำงานมีความสะดุดและล่าช้า
- คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777 -200 ER ของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน อยู่ระหว่างสรุปรายงานคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกรกฎาคม
- คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติเขารวก -ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 29 ราย และมีการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะสรุปเสร็จในเดือนนี้
- คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินตำบลเขากะรน อำเภอเมืองภูเก็ตจังหวัดภูเก็ตในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด มีผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 24 ราย ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการสรุป และส่งเข้าคณะกรรมการป.ป.ช.ต่อไป
- คดีการทุจริตการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนป่าเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียนและป่าเขื่อนลั่นอำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคดีนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ราย คดีอยู่ในวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการป.ป.ช.
ปปช.รับเตรียมสอบจัดสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมราคาแพงหลายพื้นที่ ส่อจัดซื้อจัดจ้างว่ามีการฮั้วประมูล
ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กล่าวถึงกรณีการจัดสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมต่างๆและมีราคาแพงในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ว่า ได้สั่งการให้ ป.ป.ช. จังหวัด ต่างๆให้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีความคุ้มค่ากับประชาชนมากน้อยเพียงใด ส่วนรายละเอียดว่าเหมาะสมหรือไม่นั้นขอให้ดูผลจากการตรวจสอบก่อนยังไม่ขอพูดไปก่อนล่วงหน้า
ด้าน นายนิวัติไชย เกษมมงคล โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่าการตรวจสอบต้องไปดูว่าการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีการฮั้วประมูล หรือมีการรู้ราคาก่อนล่วงหน้าก่อนประมูลหรือไม่ และต้องดูรายละเอียดว่ามีใครเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างบ้าง ดูวัตถุประสงค์และความจำเป็นด้วย รวมทั้งการตั้งวงเงินงบประมาณ ว่าเหมาะสม กับราคากลางตามท้องตลอดทั่วไปหรือไม่ ยืนยันว่าเรื่องประติมากรรมเสาไฟฟ้าสามารถเทียบราคากลางได้
พร้อมกันนี้ นายนิวัติไชย กล่าวถึงความคืบหน้าการการรื้อคดี กรณีอัยการไม่สั่งฟ้อง คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เมื่อปี 2555 ภายหลังที่ นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงาน โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเมื่อปี 2563 และได้ส่งรายงานให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือ นายวรยุท หรือไม่ ทั้งกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และ กรณีที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่นำตัวมาส่งฟ้องต่ออัยการเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนีคดี
ทั้งนี้ ได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่ามีมูล อยู่ระหว่างเสนอให้ กรรมการ ป.ป.ช. ตั้งกรรมการไต่สวน ผู้เกี่ยวข้องซึ่งพบว่ามีนับสิบราย ทั้ง ตำรวจและอัยการ ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และชี้มูลความผิดตามกระบวนการต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news