สั่งปรับไม่สวมหน้ากากอนามัยสูงสุด2หมื่นบาท
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเปรียบเทียบปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยสูงสุด 2 หมื่นบาท
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 6/2564 โดยระบุว่าในวันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้พิจารณา 4 ประเด็นสำคัญในการควบคุมโรคโควิด-19
ประเด็นแรก ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการ Phuket Sandbox เปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยมีเกณฑ์ดังนี้
- เน้นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง
- ได้รับวัคซีนครบถ้วนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มากับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนได้
- มีเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ผลไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้งในประเทศไทย ได้แก่วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 7 และ 14 โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา เดินทางถึงที่พักด้วยรถโรงแรมและรับการตรวจเชื้อ ไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องจนกว่าผลการตรวจไม่พบเชื้อ จึงจะอนุญาตให้ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตได้ เมื่อครบ 14 วันจึงจะเดินทางไปเที่ยวต่อยังจังหวัดอื่น โดยจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ Phuket Sandbox เตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค มาตรการสถานที่ (มาตรฐาน SHA+) การป้องกันส่วนบุคคล สังคม การแพทย์และสาธารณสุข และการสนับสนุนทรัพยากรอื่นๆ โดยถือเป็นโครงการต้นแบบส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ศบค. เห็นชอบ
ประเด็นที่ 2 มีมติเห็นชอบมอบหมายให้สถานพยาบาลตามกฎหมายสถานพยาบาล คือ โรงพยาบาลเอกชน มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย โดยให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
ประเด็นที่ 3 เห็นชอบแนวทางการกำหนดระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ของวัคซีนแอสตราเซเนกา กำหนด 10-12 สัปดาห์ และหากจำเป็นจะต้องขยายถึง 16 สัปดาห์ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กรมควบคุมโรคกำหนดเป็นนโยบายในแต่ละพื้นที่ ส่วนวัคซีนซิโนแวคยังอยู่ที่ 3 สัปดาห์เหมือนเดิม
และประเด็นที่ 4 คือ ความก้าวหน้าการเสนอร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ฉบับปรับปรุง และการออกระเบียบเปรียบเทียบความผิดฯ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานควบคุมโรค จะมีการเปรียบเทียบปรับในอัตราใหม่ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และหากกระทำผิดครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 6 ล้านโดส เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ เศรษฐกิจประเทศกลับมาเดินหน้าเร็วที่สุด ตั้งแต่วันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2564 ได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ฉีดได้ 2,087,603 โดส รวมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน ฉีดแล้ว 6.2 ล้านโดส และภายในปี 2565 รัฐบาลมีเป้าหมายการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 150 ล้านโดส
ส่วนแนวทางการลงทะเบียนให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ที่ตกหล่นจากการลงทะเบียนหมอพร้อม นายอนุทินกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีบุคคลกลุ่มนี้ใน กทม.ประมาณ 140,000 คน ซึ่งเมื่อช่วงเช้าอธิบดีกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์และกทม.ได้หารือกัน ว่าหากมีผู้ลงทะเบียนหมอพร้อมแล้วตกหล่นยังไม่ถูกถ่ายโอนไปยังระบบของกทม. กระทรวงสาธารณสุขยินดีรับเข้ามารับการจัดสรรกับกระทรวงสาธารณสุข โดยจะต้องเป็นผู้ที่ถูกเลื่อนวันรับวัคซีนโดยไม่มีกำหนดจากกทม.หรือช่องทางอื่น เพราะกลุ่มนี้ถือว่ามาแสดงความจำนงขอรับวัคซีนตั้งแต่มีการรณรงค์ในช่วงแรก ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะไปสำรวจตัดบัญชีจาก กทม. กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม แต่ทั้งนี้ตะต้องตกลงกับ กทม.ให้ชัดเจนอีกครั้งคาดว่า ภายใน 2-3 วันนี้ว่า จะรับไปดำเนินการเองหรือไม่ หากกระทรวงจะรับมาดำเนินการจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้บุคคลเหล่านี้แสดงความจำนงเข้ารับวัคซีนกับกระทรวงสาธารณสุข
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news