โควิด-19สายพันธุ์เดลต้า”AstraZeneca – Pfizer”เอาอยู่
ปัจจุบันมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ รวม 3 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย คือ อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า
3 สายพันธุ์ที่น่ากลัว
โควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษ มีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า มีการระบาดในประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งความร้ายแรงของสายพันธุ์นี้ คือ การกระจายตัวที่เร็ว ล่าสุดแพร่เชื้อแล้วกว่า 138 ประเทศ จึงถือเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดและคร่าชีวิตก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเป็นวงกว้าง
โควิด-19 สายพันธุ์เบต้า หรือ สายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นเชื้อที่รุนแรง กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัส แต่แพร่เชื้อได้ช้ากว่าสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า
โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า พบสายพันธุ์นี้ ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ก่อนกระจายไปสู่ 68 ประเทศ พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้จับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นไปได้ที่สายพันธุ์เดลต้านี้ จะระบาดไปทั่วโลก ความร้ายแรง คือความสามารถแพร่เชื้อได้เร็วมาก เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 60% แต่เชื้อไม่ได้รุนแรงไปมากกว่าอัลฟ่า
เชื้อรุนแรงของ 3 สายพันธุ์วัคซีนเอาอยู่ไหม?
ข้อมูลจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลว่า หากฉีดวัคซีนครบโดสร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 70%
ส่วนสายพันธุ์เบต้า สิ่งที่น่าเป็นห่วง เชื้อมีความรุนแรง เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ดื้อต่อวัคซีน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของวัคซีน แม้จะฉีดครบโดสแล้วก็อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% พูดง่ายๆ คือเชื้อแพร่ได้ไม่เร็วมาก แต่อาจควบคุมด้วยวัคซีนได้ยากกว่าสายพันธุ์อื่น
ขณะที่ สายพันธุ์เดลต้า แม้จะแพร่เชื้อได้เร็วที่สุด แต่วัคซีนยังสามารถควบคุมได้ ในระดับที่ดีกว่าสายพันธุ์เบต้า มีการยกตัวอย่างว่าวัคซีนแอสตราเซนเนกาที่ใช้กัน หากฉีดครบ 2 โดสแล้ว สามารถป้องกันเชื้อแบบมีอาการได้ 60% และป้องกันอาการป่วยหนักได้ 92%
หมอยง ย้ำ วัคซีนที่มีไทย ยับยั้งการระบาด ของ เดลต้าได้
“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย แม้จะแพร่กระจายได้ง่าย ติดต่อง่าย การให้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียได้ ดังนั้น การจะยับยั้งการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ดีในขณะนี้ คือการให้วัคซีนให้เร็วที่สุดและให้หมู่มากที่สุด
ยืนยัน “AstraZeneca” ประสิทธิภาพป้องกัน “สายพันธุ์เดลต้า”
บริษัท แอสตราเซนเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่า “วัคซีนโควิด-19” ของบริษัทแอสตราเซนเนกาสามารถป้องกัน “สายพันธุ์เดลต้า” ได้ในระดับสูง โดยสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าหลังการ “ฉีดวัคซีนโควิด-19” ของ “AstraZeneca” ครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจาก “สายพันธุ์เดลต้า” ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
โดยรายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “AstraZeneca” ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
“Pfizer” ป้องกัน “สายพันธุ์เดลต้า” ได้เช่นกัน
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานการพัฒนาวัคซีนโควิดรอบโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีน จากข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศอังกฤษ พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก “สายพันธุ์เดลต้า” กว่า 60% ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก “สายพันธุ์เดลต้า” มากกว่า 6% เช่นเดียวกัน
โดยวัคซีน “Pfizer” เป็น“วัคซีนโควิด-19” บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
ย้ำคนไทย “ฉีดวัคซีนโควิด-19” สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
แม้จะมีเพียง “วัคซีนโควิด-19” บางชนิดเท่านั้น ที่มีการศึกษาและออกประกาศอย่างชัดเจนว่าสามารถป้องกัน “สายพันธุ์เดลต้า” ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ คือ ทุกคนจะต้อง “ฉีดวัคซีนโควิด-19” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news