จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 3,000-5,000 คน โดยประมาณ จนทำให้ “เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ” ส่งผลให้หลายคนที่ติดเชื้อโควิดไม่สามารถเข้ารับการรักษา เพราะโรงพยาบาลหลายที่ก็อยู่ในสถานะที่วิกฤตจนให้บริการไม่ได้ และทำให้ผู้ป่วยรอเตียงนั้นไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที บางรายอาการหนักจนถึงเสียชีวิต
ทำให้มีการเสนอแนวทางการ “ดูแลตัวเองที่บ้าน” หรือ Home Isolation ที่มีการใช้ในต่างประเทศ โดยของไทยต่างกันที่ ผู้ป่วยยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ
หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมามีการทำกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี ในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายมีอาการปอดบวม เป็นผู้ป่วยสีเหลือง มีการนำส่ง รพ. และรักษาจนหายดี
คุณสมบัติผู้ป่วยดูแลตัวเอง
Home Isolation เป็นการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน ซึ่งถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะในพื้นที่ กทม. และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 ทั้งนี้ กรมการแพทย์ ได้เผยแพร่แนวทาง Home Isolation สำหรับ ผู้ป่วยโควิด 19 มีดังนี้
- เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว)
- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1คน
- ไม่มีภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย มากกว่า 3030กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว มากกว่า 90 กก.
- ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
7 ข้อปฏิบัติผู้ป่วยจากบ้าน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า กรมการแพทย์ ได้มีแนวทางปรับการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับ ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการหนักได้ พร้อมย้ำการปฏิบัติตัวเมื่อ ต้องแยกการกักตัว หรือ Home Isolation ให้ปฏิบัติตัว ดังนี้
- ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
- ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนรวมกันในห้อง ปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
- สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
- ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
รักษาที่บ้านแบบใกล้หมอ
“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ‘สปสช.’ ระบุว่า ระบบ Home isolation ของไทยต่างจากต่างประเทศที่ปล่อยให้คนป่วยดูแลตัวเองจริงๆ แต่ของไทยหมอไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยเผชิญชะตากรรมคนเดียว แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ได้นั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่
โดย “สปสช.” สนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วัน
“สปสช.”จัดให้รพ.ดูแล
ทั้งนี้ โรงพยาบาล จะได้เงินสนับสนุนจากสปสช. ประกอบด้วย
- เงินที่เสมือนเป็นค่าที่ผู้ป่วยนอน รพ.
- เงินเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท/วัน สำหรับค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อจนครบ 14 วัน มีแพทย์ที่ติดตามอาการ
- ค่าอุปกรณ์ชุดละ 1,100 บาท อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 2 ชิ้น คือ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องวัดอุณหภูมิ ที่อยู่ในระดับการแพทย์ยอมรับ (Medical Grade) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวัดค่าออกซิเจนทุกวัน และรายงานให้แพทย์ เพราะหากมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง รพ.จะต้องเตรียมรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยมาที่ รพ.ทันที
สิ่งสำคัญที่สุด คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลกรณีไม่มีรถพยาบาลมารับให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมสวมใส่ หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและเพื่อความปลอดภัยของคนรอบข้าง
หมอห่วงแพร่เชื้อติดคนในบ้าน
ขณะเดียวกันยังมีข้อน่ากังวล จาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความห่วงใยต่อมาตรการดังกล่าว ว่า อาจจะเกิดปัญหา มีคนเพียงบางส่วนที่จะมีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แยกกักตัวออกจากสมาชิกในบ้านได้ ความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีปัจจุบัน ความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อแก่สมาชิกในบ้าน มีราว 30 % ซึ่งถือว่าสูง จึงมีโอกาสที่เราจะเห็นผลกระทบตามมาหลังจากประกาศนโยบายกักตัวที่บ้านใน 2 ลักษณะ ได้แก่
- การติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น
- จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป จะมีการกระจายไปยังส่วนอื่นในสังคมเป็นทอดๆ และคนที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็อาจตัดสินใจเร่ร่อนออกจากบ้าน มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้น.
สามารถติดตามอัพเดทสถานการณ์โควิด สรุปเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news