เช็คผังเมือง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะก่อนซื้อบ้าน ก่อนลงทุน ก่อนก่อสร้างอะไร หรือแม้แต่มีบ้านอยู่แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่สีอะไร จากเหตุการณ์โรงงานย่านกิ่งแก้วทำให้หลายคนกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งเพราะจะเห็นแล้วว่าหากอยู่ใกล้เขตโรงงาน เราก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากเลยทีเดียว
วันนี้ทาง ไอ.เอ็น.เอ็น. เลยสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการดูผังเมือง และการเช็คว่าตัวเองอยู่พื้นที่ไหน สีอะไรมาฝากกัน
ผังเมือง
ผังเมือง จะถูกออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อกำหนดความเป็นอยู่ของคนในเมืองนั้นๆ ว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน ห้ามสร้างอะไร เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและจัดการง่ายที่สุด
ผังเมืองจะมีกฎหมายผังเมือง หลักที่ๆเราต้องรู้คือ สีต่างๆ หรือ อักษรตัวย่อ เพื่อได้รู้ว่าเราอยู่ใกล้อะไร เขตเราเป็นแบบไหน สร้างอะไรได้ ห้ามสร้างอะไร โดย สรุปง่ายๆได้ดังนี้ (ใครอยากเช็คสีอย่างเดียวข้ามไปท้ายๆบทความได้เลย แต่ก็ควรรู้ก่อนนะว่าสีไหนหมายถึงอะไร)
หากแยกสีเบื้องต้น แยกได้ดังนี้
- เขตสีเหลือง
คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
- เขตสีส้ม
คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
- เขตสีน้ำตาล
คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
- เขตสีแดง
คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
- เขตสีม่วง
คือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
- เขตสีเม็ดมะปราง
คือ ที่ดินประเภทคลังสินค้า
- เขตสีม่วงอ่อน
คือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
- เขตสีเขียว
คือ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
- เขตสีเขียวมะกอก
คือ ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา
- เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว
คือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
- เขตสีน้ำตาลอ่อน
คือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
- เขตสีเทา
คือ ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา
- เขตสีน้ำเงิน
คือ ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
การแบ่งที่เดินและสีผังเมืองที่ควรรู้
1.ที่ดินประเภทอยู่อาศัย
ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยมีสีคือ เหลือง ส้ม น้ำตาล มี ย.1-ย.10 กำกับ
- สีเหลือง ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่ำ (คนอยู่น้อย)
- สีส้ม ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยปานกลาง
- สีน้ำตาล ความหน่าแน่นของการอยู่อาศัยสูง (คนอยู่เยอะ)
อธิบายเพิ่มเติม ที่ดินประเภทอยู่อาศัย
สีเหลือง มักจะเป็นที่ดินที่อยู่แถบชานเมือง จะมี ย.1-ย.4 กำกับ
- ย.1 และ ย.3 คือบริเวณที่ส่งเสริมให้รักษาสภาพแวดล้อมการอาศัยที่ดีไว้
- ย.2 มุ่งไปที่การรับรองการขยายตัวของชานเมือง
- ย.4 มุ่งไปที่ชานเมืองที่มีการให้บริการระบบขนส่งมวลชน
ประเภทการก่อสร้าง
- ย.1 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว
- ย.2 บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์
- ย.3 เป็นต้นไป สามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็ก-ขนาดกลางได้
สีส้ม มักจะเป็นที่ดินที่มีบริเวณติดต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน จะมี ย.5-ย.7 กำกับ
- ย.5 มุ่งไปที่การรับรองการขยายตัวของการอยู่อาศัยในพื้นที่ติดต่อกับเขตเมืองชั้นใน
- ย.6 มุ่งไปที่บริเวณที่เป็นชุมชนชานเมือง เขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม
- ย.7 มุ่งไปที่การใช้ที่ดินรองรับการอยู่อาศัยเฉพาะพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน ที่มีระบบขนส่งมวลชน
ประเภทการก่อสร้าง
ย.5-ย.7 จะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ (แต่ก็มีเงื่อนไขนะ)
สีน้ำตาล มักจะเป็นที่ดินที่อยู่ในเมืองชั้นใน จะมี ย.8-ย.10 กำกับ
- ย.8 มุ่งให้ความสำคัญการรักษาทัศนียภาพ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
- ย.9 มุ่งเน้นบริเวณเมืองชั้นในที่มีการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
- ย.10 เขตเมืองชั้นในที่ต่อกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ขนส่ง
ประเภทการก่อสร้าง
ที่ดินสีน้ำตาลสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ มักเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง
2.ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
ที่ดินสำหรับการพาณิชย์เป็นหลัก ใช้สีแดง มีรหัสกำกับ พ.1-พ.5
- สีแดง พ.1 – พ.2 อยู่ชานเมือง ใช้ที่ดินเพื่อเป็นศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชน กระจายกิจกรรมการค้า บริการ นันทนาการ ให้แก่คนในพื้นที่
- สีแดง พ.3 เหมือน พ.1 และ พ.2 แต่กลุ่มเป้าหมายคือทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่อาศัยในพื้นที่
- สีแดง พ.4 ใช้ที่ดินเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า บริการ นันทนาการ ท่องเที่ยว โดยจะตั้งอยู่พื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงได้ง่าย
- สีแดง พ.5 ขยายจาก พ.4
ประเภทการก่อสร้าง
พื้นที่สีแดงสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน มีข้อจำกัดน้อยกว่าสีอื่น
3.ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
ที่ดินสีม่วง ใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรม มี อ.1-อ.3 กำกับ
- สีม่วง อ.1 ประกอบกิจการที่มีมลภาวะต่ำ
- สีม่วง อ.2 อุตสาหกรรมการผลิต
- สีม่วง อ.3 กำหนดให้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเภทการก่อสร้าง
สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก คอนโดขนาดเล็ก ร้านค้า แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูง หรืออาคารชุดขนาดใหญ่ได้
*ตรงพื้นที่สีม่วง จะมี พ.ร.บ โรงงาน ที่กำหนดเรื่องความปลอดภัย ขนาด และมีข้อกำหนดว่าที่พักควรห่างจากโรงงานเท่าไร ห้ามตั้งโรงงานใกล้สถานที่แบบไหน เช่น ห้ามตั้งโรงงานใกล้บ้านพัก โรงเรียน วัด โรงพยาบาล และทำเลต้องเหมาะสมอีกด้วย
และสีที่เหลือ ที่ควรรู้จะไม่ขอลงรายละเอียดมาก
ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (อนุรักษ์ด้วย)
พื้นที่สีเขียว ใช้กรอบขาวและเส้นทแยงสีเขียว มีรหัสกำกับคือ ก.1-ก.3 จุดมุ่งหมายหลักคือใช้ที่ดินเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง การทำการเกษตร
ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทย
พื้นที่สีน้ำตาลอ่อน จะเห็นตามเกาะรัตนโกสินทร์ ใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ศิลปะ ส่งเสริมการท่องเที่ยว มีรหัสกำกับ ศ.1-ศ.2
ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
พื้นที่สีน้ำเงิน เป็นที่ดินของรัฐ ใช้เพื่อเป็นสถานที่ราชการ หรือ วัด(สถาบันศาสนาจะเป็นสีเทา) สถาบันการศึกษา อาจจะมีการนำมาใช้เช่า ให้สัมปทานกับเอกชน
วิธีเช็คว่าตัวเองอยู่เขตสีอะไร
- https://landsmaps.dol.go.th/ ระบุเลขที่โฉนดของเราเพื่อดูได้เลย
- map.nostramap.com เลือกชั้นข้อมูลทางซ้ายแล้วกดข้อมูลผังเมืองได้เลย
- https://map.longdo.com/ กดเลือกชั้นข้อมูลตรงมุมขวาบน แล้วเลือกผังเมืองประเทศไทย
- ช่องทางอื่น เช่น เว็บไซต์ที่ทำเกี่ยวกับการลงทุน ซื้อขายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะมีให้เช็คเช่นกัน
การรู้ว่าเราอยู่ในเขตอะไร ทำให้เราตัดสินใจและรู้ว่าเราสามารถสร้างอะไรได้หรือสร้างไม่ได้ เราอยู่ใกล้จุดเสี่ยงไหม (เช่นโรงงานต่างๆ) บางครั้งชุมชนก็ไปสร้างหลังโรงงานแล้วก็ขยับเข้าใกล้จนได้รับอันตราย หรือกลับกันบางทีอยู่ดีๆมีสิ่งก่อสร้างมาสร้างใกล้บ้านเรา เราจะได้รู้สิทธิว่าเขาสามารถสร้างได้หรือไม่ นับว่าเป็นความรู้ที่เราควรมีเอาไว้เลย ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ iNN
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news