Home
|
ทั่วไป

โควิดลงปอด แต่ยังไม่ได้เตียงทำอย่างไรดี?

Featured Image

          โควิด-19 ลงปอด แต่ยังไม่ได้เตียงรักษา มีแนวทางแก้ไขในเบื้องต้นอย่างไรบ้าง? ขอแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เตียงไม่เพียงพอต่อความต้องการและด้วยสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าเชื้อจะสามารถลงปอดได้เร็วกว่าในบางราย ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

          นพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอดและวิกฤตบำบัด แพทย์คนไทยในสหรัฐฯ ได้เผยผ่านช่อง Doctor Tany และได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้ 

          เช็คตัวเองก่อนว่า โควิดลงปอดจริงหรือไม่ ผ่าน 2 วิธี

1.ถ้าเคยทำกิจกรรมอะไรที่ไม่เหนื่อย แล้วมาวันนี้เหนื่อย เช่น เดินไปเดินมา ลุกยืน อาจต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเชื้อลงไปที่ปอดแล้ว 

2.ถ้ามีเครื่องวัดออกซิเจนก็สามารถนำมาตรวจได้ โดยออกซิเจนปกติอยู่ประมาณ 97-100% ถ้าต่ำกว่า 94% ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องโควิด-19 ลงปอด

(ใครอยากอ่านเกี่ยวกับเครื่องวัดออกซิเจนเพิ่มเติม คลิก

          หากลองเช็คตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้แล้วสงสัยว่าตัวเองมีอาการให้ ปฏิบัติดังนี้ (แบบสรุป)

1.นอนคว่ำ 

รู้จักการนอนคว่ำ โดยปกติปอดประมาณ 2 ใน 3 ของเราจะอยู่ด้านหลัง การนอนหงายทำให้น้ำหนักตัวกดทับปอด ส่งผลให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในทางกลับกันการนอนคว่ำช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น และออกซิเจนก็สูงขึ้นไปด้วย

  • นำหมอนมารองด้านหน้าของลำตัว กอดเอาไว้ หันหน้าไปซ้ายหรือขวา ทางใดทางหนึ่ง
  • หากใบเดียวสะดวกก็นำใบอื่นมาเสริมให้เราถนัด
  • หากคนไม่สามารถนอนคว่ำได้ ให้นอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่งจะดีกว่านอนหงาย 
  • กรณีคนท้องที่มีอายุครรภ์มากๆ แนะนำให้นอนเอาด้านซ้ายลง เพราะช่วยให้น้ำหนักของมดลูกไม่ไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ 

2.พยายามเดินหรือเคลื่อนไหวขา 

เป็นการช่วยไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันกรณีเป็นโควิด เพราะโควิดเกิดการอักเสบเยอะ อาจทำให้เกิดการอุดตันลิ่มเลือดและมักจะเกิดบริเวณขาก่อน แล้วพออุดตันก็เคลื่อนต่อไปที่ปอด

  • หากเดินไม่ไหว ให้เคลื่อนไหวขา เช่น งอเข้า-ออก เหยียดดึงเข้าหาตัวสุดๆ 

3.ดื่มน้ำมากๆ

ช่วยให้เลือดไม่ข้น โอกาสเกิดลิ่มเลือดน้อยลง ร่างกายไม่เพลียมาก 

  • ดื่มวันละ 2-2.5 ลิตร ไม่ต้องดื่มมากจะเป็นอันตรายแทน ค่อยๆดื่ม
  • ถ้าทานอาหารได้ปกติ ก็ทานได้เพื่อเพิ่มพลังงานในร่างกาย แต่ถ้าทานไม่ค่อยดีก็ให้กินน้ำที่มีเกลือแร่เพื่อไม่ให้ร่างกายเพลีย 

4.ทานยาประจำตัวต่อไป

  • หากมียาประจำตัวให้ทานต่อ ไม่งั้นโรคอาจจะกำเริบได้
  • แต่ให้สังเกต พิจารณาเป็นพิเศษกับยา เช่น ยากลุ่มขับปัสสาวะ ยากลุ่มลดความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน (ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเราก่อนทุกครั้งหากจะงด) เพราะโควิดอาจจะทำให้โรคเหล่านี้กำเริบได้

5.ให้ความสำคัญเรื่องเข้าห้องน้ำ 

ภาวะเชื้อลงปอดรุนแรง การเข้าห้องน้ำต้องระวัง เพราะเวลาเบ่งทำให้หน้ามืด เป็นลมเสียชีวิต  สาเหตุมาจากเวลาเบ่งทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอและจะทำให้เป็นอันตรายได้ แนะนำว่าให้ถ่ายข้างเตียง 

ในรายที่มีอาการท้องผูกให้ดื่มน้ำเยอะๆ หรือทานยาระบายอ่อนๆ จะได้ไม่ต้องเบ่งเยอะ 

6.ยาต่างๆ

เช่น ยาลดไข้ให้ทานพาราเซตามอลหรือไทลินอลเท่านั้น ทานได้ตั้งแต่มีไข้อ่อนๆ ไม่ต้องรอไข้สูง ยากลุ่มอื่นไม่แนะนำ โดยเฉพาะ Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs เช่น ยาพอนสแตน (Ponstan)อาจจะทำให้ไตวายได้ 

ควรมีเกลือแร่ติดบ้าน ส่วนใครอยากทานยาสมุนไพร ทานได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด 

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ฟ้าทะลายโจรทานอย่างไรให้ปลอดภัย)

7.ติดต่อกับคนในครอบครัวเสมอ 

แน่นอนว่าเราต้องกักตัวแยกจากคนอื่น แต่พยายามบอกอาการเสมอ ไม่ว่าจะบอกผ่านมือถือหรือแอปพลิเคชันต่างๆ หรือคอยคุยกับครอบครัว ญาติพี่น้อง หากกรณีเร่งด่วนจะได้ช่วยเหลือได้ทัน 

          นับว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับการดูแลตัวเองหากยังไม่ได้เตียง ติดตามข่าวและบทความอื่นๆได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น.

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูล 

นพ.ธนีย์ ธนียวัน 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube