“ราเมศ” ประกาศ รวมพลนักกฎหมายทั่วประเทศ ช่วยประชาชนถูกยกเลิกกรมธรรม์ โควิด-19
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์และเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ บริษัทประกัน ได้บอกเลิกกรมธรรม์ ประชาชนที่ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 ว่า หลักการเรื่องนี้ กฎหมายระบุไว้ชัดประชาชนผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ บริษัทตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีภัยหากมีขึ้น คือหากผู้ทำประกันภัยติดเชื้อโควิด-19 บริษัทก็ต้องทำตามสัญญาคือการใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ผูกพันสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อได้หลักความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยแล้ว ก็ต้องมาดูว่ากรณีที่จะยกเลิกสัญญาประกันภัย ทำได้เพราะเหตุใดบ้าง หลักกฎหมายก็กำหนดไว้ชัดอีกว่า หากมีการแถลงข้อความอันเป็นเท็จหรือรู้อยู่แล้วไม่บอกความจริง สามารถบอกเลิกได้ เช่น หากติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่นำหลักฐานเท็จมาแสดงต่อบริษัทว่าตนไม่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อมาเมื่อทำสัญญาประกันแล้ว นำผลตรวจมาแจ้งว่าติดโควิดเพื่อขอรับเงินค่าสินไหม กรณีตัวอย่างนี้บอกเลิกสัญญาได้
เช่นเดียวกันคือประชาชนผู้ทำสัญญาประกันภัยกระทำการทุจริต เช่นนำผลตรวจปลอมมาขอรับเงินค่าสินไหม เหมือนที่ได้ยกตัวอย่างมา กรณีนี้บอกเลิกสัญญาได้ โดยกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย อ้างเหตุบอกเลิกสัญญาตามกรมธรรม์”ข้อ 2.4.3 ที่ระบุการสิ้นสุดความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ตามเงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนดข้อ 2.5 และอ้างเหตุตาม ข้อ 2.5.1. ที่ระบุว่า บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัยตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบโดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัยนี้บริษัทจะไม่คืนเบี้ยประกันภัยที่ได้เรียกเก็บมาแล้วเพราะเหตุแห่งการฉ้อฉลหรือการทุจริตดังกล่าวข้างต้นและบริษัทจะไม่รับผิดสำหรับการเรียกร้องค่าทดแทนอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว”
นายราเมศ กล่าวว่า จากกรณีการกล่าวอ้างกรมธรรม์ข้อ 2.4.3. และข้อ 2.5.1. ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายและกรมธรรม์ การจะเลิกสัญญาได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กรณีการปกปิดความจริง การทุจริตฉ้อฉล หากไม่มีเหตุย่อมไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาประกันภัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทำประกันของประชาชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงภัยในอนาคต หาใช่กลับกลายว่าบริษัทเห็นว่า บริษัทเสี่ยงภัยแล้วเลยบอกเลิกสัญญา เช่นนั้นแล้วจะทำสัญญาประกันไปทำไม ไร้ประโยชน์ แล้วการบอกว่า จะคืนเบี้ยประกันบางส่วน ยิ่งเป็นเรื่องตลก เพราะเหตุผลที่บอกมาคือบริษัทต้องบริหารความเสี่ยง เพราะเป็นวิกฤตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คือบริษัทเสี่ยงจึงบอกเลิกเหตุก็เกิดจากบริษัท แล้วจะให้ประชาชนรับกรรมจากความเสี่ยงของบริษัทอย่างนั้นหรือ ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่า ให้ฝ่ายกฎหมายกลับไปดู พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้ดีด้วย มาตรา 4 ที่ระบุสาระสำคัญไว้ชัดคือ ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ไปท่องให้ขึ้นใจ
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่ทำประกันภัยกับบริษัทสินมั่นคง ไม่จำเป็นต้องรับคืนค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจะจ่ายคืน เพราะสัญญายังสมบูรณ์ และประชาชนที่ทำประกันติดเชื้อโควิด ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้คือ 100,000 บาท ดังนั้น ขอประกาศจุดยืนว่าจะสู้เรื่องนี้ให้กับประชาชน โดยจะระดมนักกฎหมายทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมให้กับประชาชน การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับประชาชนไม่ใช่เรื่องยาก บริษัทจะมีเงินทองมากมายก่ายกองขนาดไหนไม่สำคัญ แต่หลักสำคัญคือบริษัทต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับประชาชน เพราะบริษัทอยู่ได้มีรายได้มากก็เพราะประชาชน ในประเทศนี้ อย่าซ้ำเติมวิกฤติในสถานการณ์แบบนี้เลย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news