พบสายพันธุ์เดลตาระบาดแล้ว71จังหวัด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา กระจายไปทั่วประเทศ 71 จังหวัด ล่าสุดยังไม่พบการกลายพันธุ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดต เรื่องการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับเครือข่าย ทำการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ พบว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย หรือเดลตา แซงสายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟา ไปแล้ว ส่วนสายพันธ์แอฟริกา หรือเบตา พบอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่
เมื่อดูแนวโน้มในภาพรวมของประเทศ เมื่อตรวจไป 3,000 กว่าตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 63% สายพันธุ์อังกฤษ 34% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์แอฟริกา ในส่วน กทม. ขณะนี้ มีสายพันธุ์เดลตา 77% และภูมิภาค 47% คือสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เป็นไปตามที่คาดไว้ จนวันนี้ภาพรวมทั่วประเทศ 63% กทม.70%
สำหรับสายพันธุ์ที่เรากำลังเพ่งเล็งอยู่คือ สายพันธุ์เดลตา วันนี้พบใน 71 จังหวัด เพิ่มมา 11 จังหวัด จากสัปดาห์ก่อน รวมกับกทม. ที่มีอยู่แล้ว หลายจังหวัดเดิมที่การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา เป็น 0 วันนี้ ก็มีเพิ่มขึ้นมา เช่น แม่ฮ่องสอนพบติดเชื้อ 3 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย, สมุทรสงคราม 4 ราย, ฉะเชิงเทรา 20 ราย, ตราด 2 ราย, สุรินทร์ 28 ราย, ชุมพร 1 ราย, นครศรีธรรมราช 2 ราย, กระบี่ 2 ราย, พังงา 1 ราย และปัตตานี 2 ราย เรียกได้ว่าขณะนี้ 71 จังหวัด บวก 1 กทม. ก็เกือบครบทั้งประเทศแล้วที่พบการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เหลืออีก 4-5 จังหวัดที่ยังไม่พบสายพันธุ์นี้
ฉะนั้น สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลตา เป็นคำตอบว่าทำไมตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างที่รู้ว่าสายพันธุ์อินเดียติดกันง่ายแต่ความรุนแรง อัตราการป่วย-ตาย ยังไม่มีผลมากเท่าไหร่
ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือเบตา ที่ทะลุชายแดนมาจากฝั่งจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบัน ยังพบการติดเชื้อบริเวณนั้นเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันนี้เจออีกกว่า 90 ราย และจังหวัดใกล้เคียง อย่างปัตตานี, ยะลา, สงขลา, พัทลุง พบตัวเลขเพิ่มขึ้น และพบไปถึง จ.ชุมพร เป็นรายใหม่ และที่บึงกาฬ เมื่อสัปดาห์ก่อน พบ 1 ราย เป็นคนงานกลับมาจากไต้หวันกักตัวแล้วตรวจไม่เจอ เมื่อกลับไปบ้าน ก็พบว่าติดเชื้อว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกา และมีคนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง พบติดเชื้ออีก 3 ราย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องดูแลต่อไปว่าจะหยุดแค่ 4 รายนี้หรือไม่
ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบการติดเชื้อของสายพันธ์แอฟริกา โดยมีญาติจากนราธิวาส มาเยี่ยมที่กรุงเทพ แล้วนำเชื้อมาติดพ่อ และติดคนในครอบครัวอีก 2 ราย สัปดาห์นี้ยังไม่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เบตาเพิ่มเติม หากสัปดาห์หน้า ยังเป็น 0 อยู่ สายพันธุ์แอฟริกา ในกทม. ก็อาจจะจบได้ คือไม่มีการระบาดในวงกว้าง หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเฝ้าระวังการการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด ว่า อย่างที่เคยบอกว่า หากปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เมื่อไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนเซลล์ในร่างกาย ก็อาจจะผิดเพี้ยนเกิดเป็นการกลายพันธุ์ แต่จะมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการกลายพันธุ์ หากพบว่าเมื่อป่วยตายมากขึ้น ดื้อวัคซีนมากขึ้น หรือการกลายพันธุ์แล้วมีขีดความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ทางองค์การอนามัยโลก ก็จัดเป็นการกลายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ก็จะต้องติดตามดู
แต่ยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย และขอให้มั่นใจว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมเครือข่ายทั้งหลาย ในการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ ในแต่ละสัปดาห์ได้ทำการตรวจหาเชื้อได้หลายพันตัวอย่าง เป็นการตรวจมากกว่าที่สากลกำหนด ซึ่งหากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ก็จะเจออย่างแน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news