ซูเปอร์โพลแนะหน่วยราชการลงพื้นที่ช่วยปชช.ช่วงโควิด
ซูเปอร์โพล เผย คนพื้นที่สีแดงเกิดวิกฤตปากท้อง หน่วยงานราชการไม่คุมราคาสินค้า หนุนมาตรการกักตัวที่บ้าน แนะหน่วยราชการลงพื้นที่ช่วยปชช.
ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,142 ตัวอย่าง เรื่อง กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ ระหว่างวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2564
พบเหตุปัจจัยวิกฤตศรัทธาด้านการเมืองและระบบราชการในพื้นที่แดงเข้มกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใน 3 อันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ระบุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันดับรองลงมาได้แก่ ร้อยละ 90.4 ระบุ ฝ่ายการเมืองมุ่งถอนทุนคืน ไม่ยอมทำงานช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤต และอันดับสามได้แก่ ร้อยละ 89.1 ระบุ ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอในการควบคุมโรคและช่วยเหลือประชาชน
ที่น่าเป็นห่วงคือ เหตุปัจจัยวิกฤตด้านสังคมและปัญหาปากท้องของประชาชนในพื้นที่แดงเข้ม กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุ ไม่มีการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นต่อความเป็นความตายของประชาชน เช่น ชุดตรวจโควิด ชุดยาสมุนไพรและยาปัจจุบัน ราคาอาหาร และร้อยละ 93.3 เท่ากันระบุ ปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกทอดทิ้ง ไม่มีระบบการช่วยเหลือที่ดีเพียงพอ จึงเกิดวิกฤตความเป็นความตายของประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่ ร้อยละ 89.7 ระบุ เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ หน่วยงานราชการยาก เมื่อเข้าถึงได้ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ที่น่าพิจารณาคือ การปฏิรูปบริหารจัดการระบบราชการแก้เหตุปัจจัยที่ล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ระบุหัวหน้าส่วนราชการต้องลงพื้นที่เข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน แก้ปัญหาให้ได้เห็นผลทันทีลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ ร้อยละ 92.7 ระบุ ปฏิรูปให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน แก้ปัญหาด้วยความรวดเร็วฉับไว มากกว่า กินเงินภาษีของประชาชนไปวัน ๆ ร้อยละ 91.5 ระบุ ให้ออกจากราชการหรือออกจากตำแหน่งที่ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ ในขณะที่ ร้อยละ 88.9 ระบุ ต้องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ใหม่ โดยเร็ว และร้อยละ 83.3 ยังมีความหวังต่อรัฐบาลจะปฏิรูปราชการไม่เป็นรัฐราชการที่เชื่องช้าและคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 เห็นด้วยกับมาตรการการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) ในขณะที่ร้อยละ 22.3 ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการควบคุมยากในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในครอบครัวและชุมชน และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 ระบุไม่มีความพร้อมรับมาตรการการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) เพราะ ขาดความช่วยเหลือเตรียมการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 22.7 ระบุ มีความพร้อม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news