Home
|
ทั่วไป

ศบค.ย้ำไม่อนุญาตขายชุดตรวจโควิดออนไลน์

Featured Image
ศบค. ย้ำ ยังไม่อนุญาตให้ขาย ชุดตรวจโควิด ช่องทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ ชี้จะต้องเป็นแบบแอนติเจนเท่านั้นห้ามเป็นชนิดแอนติบอดี้ พร้อมยันยาฟาวิพิราเวีย มีพอ

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสาธารณสุข ได้มีการปรับระเบียบให้ประชาชนสามารถตรวจ Antigen Test kit โดยหามาตรวจได้ด้วยตัวเอง(ชุดตรวจโควิด)

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจให้ใช้ได้ 2 แบบ
คือ แบบแรกสำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะในสถานพยาบาล และแบบที่ 2 ชนิดที่ประชาชนสามารถซื้อมาตรวจเองได้ Home use หรือ Self Test ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. จำนวน 19 ยี่ห้อ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเน้นย้ำว่า ชุดตรวจโควิด เหล่านี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีความแม่นยำและมีข้อจำกัดในการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ฉะนั้นเมื่อเลือกซื้อจะต้องซื้อในร้านขายยาหรือสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ซื้อที่ออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากอาจไม่มีมาตรฐาน และชุดตรวจจะต้องเป็นแบบแอนติเจนเท่านั้น ห้ามเป็นชนิดแอนติบอดี้

หากเป็นการระบุ เชื้อโพรงหลังจมูก ซึ่งมีความยากลำบากและไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้เอง ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่สำหรับประชาชนใช้เองจะเป็นการเก็บตัวอย่างโพรงจมูก ขณะนี้ผ่านการอนุญาตจาก อย. แล้ว 17 ยี่ห้อ

นอกจากนี้การเก็บตัวอย่าง นอกจากจะเลือกชุดเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องแล้ว จะต้องใช้การเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน โดย สปสช ได้จัดหางบประมาณอนุมัติชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการ Antigen Test kit 8.5 ล้านชุด และสามารถให้ประชาชนนั้นสามารถเบิกจ่ายได้

 

จากกรณี

ที่ประชาชนต้องการตรวจหาเชื้อแบบ Antigen Test kit ศบค. ร่วมกับทีมอาสา Tech for thailand ได้รวบรวมสถานที่เปิดตรวจ Antigen Test kit ให้บริการ ผ่าน www.koncovid.com ซึ่งมีทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถพิมพ์รหัสไปรษณีย์ ก็จะปรากฏจุดตรวจในพื้นที่

โดยหากพบว่าเป็นจุดสีเขียวจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ, สีน้ำตาลของโรงพยาบาลเอกชน, สีม่วงเป็นจุดตรวจเชิงรุก, สีชมพูเป็นคลินิก, สีฟ้าคือ Lab, สีเทาเป็นมหาวิทยาลัย, สีเหลืองคือพื้นที่อื่น และสีแดงปิดให้บริการ ซึ่งแนะนำให้โทรศัพท์ไปถามก่อนเสมอ เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด หรือมีข้อจำกัดกับเฉพาะ

ส่วนการดำเนินการตรวจคัดกรอง covid เชิงรุก 6 กลุ่มเขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 6-8 สิงหาคม ที่ลานกีฬาพัฒน์ 2 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเขตหลักสี่, สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาเขตมีนบุรี, ศูนย์สร้างสุขทุกวัยสวนลุมพินีเขตปทุมวัน, ลานใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัดและตลาดบางแคภิรมย์เขตบางแค

ขณะที่กลุ่มที่ควรเข้ารับการคัดกรองโควิด คือกลุ่มที่ผู้ป่วยเป็นไข้ อุณหภูมิร่างกาย 37.3 องศา มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งกรมควบคุมโรคเน้นย้ำว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่ม PUI ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ผลบวกของผู้ป่วยกลุ่มนี้บางช่วงสูง ถึงร้อยละ 25 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เดินทางไปในตลาดชุมชนหรือโรงงาน มีอาชีพหรือกิจกรรมเสี่ยง เช่นทำงานในโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง พนักงานขับรถ ค้าขาย

นอกจากนี้ มีรายงานว่าผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต มีรายงานทราบผลแล้วเสียชีวิตการติดเชื้อน้อยกว่า 6 วัน ซึ่งบางครั้งคนไข้อาจไม่ตระหนักว่าติดเชื้อ รอจนอาการรุนแรง ทำให้การช่วยเหลือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำว่าเมื่อตรวจชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด -19 แบบAntigen Test kit ผลเป็นลบจะต้องตรวจซ้ำใน 3 วัน เฝ้าสังเกตอาการตัวเอง กักกันตัวเองและหลีกเลี่ยงกันไปยังสถานที่ชุมชน โดยหากผลเป็นบวกให้โทรแจ้ง 1330 ต่อ 14 หรือสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเพิ่ม Line Add :@sabaideebot เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา

 

ขณะที่นโยบายของกรมการแพทย์ทุกคนที่ติดเชื้อโควิด 19 ต้องได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทันเวลา เหมาะสม และปลอดภัย ขณะที่ภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีเลข เบอร์ตรงของแต่ละเขต ซึ่งแต่ละหมายเลขจะมีจำนวน 20 คู่สาย โดยก่อนการโทรศัพท์ไปแจ้งขอให้เตรียมเอกสาร ได้แก่หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ เพื่อจัดส่งยาเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงต้องมีเลขที่หรือสถานที่ตรวจ เพื่อย่นระยะเวลาในการพูดคุย

 

สิ่งสำคัญคือเมื่อโทรไปยัง 1330 ระบบจะจับคู่ผู้ป่วยและศูนย์ให้บริการโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย ศูนย์ที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ป่วยขณะนี้มีจำนวน 226 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยในวันนี้ในที่ประชุมมีการยืนยัน ว่า ยาฟาวิพิราเวีย มีเพียงพอ และกระทรวงสาธารณสุขมีการสต๊อกไว้ และนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และภายในเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถผลิตได้เองเดือนละ 35 ล้านแคปซูล ซึ่งผู้ป่วยใน กทม. ที่เข้าสู่ระบบ Home isolation เกือบ 100,000 ราย

 

โดยมีจำนวนหน่วยบริการโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดูแลประชาชนผ่านระบบ Home isolation ในพื้นที่กรุงเทพฯ 232 แห่ง ประกอบด้วยศูนย์บริการสาธารณสุขสำนักอนามัย 69 แห่ง, คลินิกชุมชนอบอุ่น, โรงพยาบาลขนาดเล็ก 119 แห่ง, โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 6 แห่ง, โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 12 แห่ง, โรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย 5 แห่ง, โรงพยาบาลเอกชน 17 แห่ง และจิตอาสา 4 แห่ง

 

 

ศบค.ไทยป่วยใหม่ 20,920 ราย สะสม 693,305 ตายอีก 160 กระจายไฟเซอร์กระตุ้นภูมิบุคลากรแพทย์แล้ว ขณะฉีดวัคซีนรวม 18.9 ล้านโดส

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เผยตัวเลขสถานการณ์ประจำวันพฤหัสบดี ที่ 5 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 20,920 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 20,658 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ 262 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 693,305 ราย

รักษาอยู่ 213,910 ราย รักษาในโรงพยาบาล 87,150 ราย และโรงพยาบาลสนาม 126,760 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,993 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1,058 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 473,732 ราย หายเพิ่ม 17,926 ราย เสียชีวิตใหม่ 160 ราย รวมเสียชีวิต 5,663 คน

โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้ป่วยชาย 90 ราย ผู้ป่วยหญิง 70 ราย เป็นชาวไทย 158 ราย และเมียนมา 2 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 78 ราย, สมุทรปราการ และปทุมธานี จังหวัดละ 8 ราย, นครสวรรค์และนนทบุรี จังหวัดละ 7 ราย, สมุทรสาคร, ปัตตานีและชลบุรี จังหวัดละ 6 ราย, ระยอง 4 ราย, ร้อยเอ็ด, เพชรบูรณ์, ตากและชัยนาท จังหวัดละ 3 ราย, กาฬสินธุ์, นครราชสีมาและสกลนครจังหวัดละ 2 ราย, สงขลา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, นครพนม, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, อุบลราชธานี, อุทัยธานี, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ราชบุรีและสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย

 

 

 

ทั้งนี้ แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิของแพทย์ ได้จัดส่งโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์, โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลบำราศนราดูล

และโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่โรงพยาบาลพุทธะโสธรจังหวัดฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้าชลบุรี, โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลนครนายก, โรงพยาบาลสระบุรีและโรงพยาบาลระยอง

รวมถึงวัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กลุ่มนักเรียนไทยที่จำเป็นต้องไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ โดยผู้เข้าข่ายได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอ ร์จะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ลงทะเบียน และจะมีอีเมลยืนยัน รวมถึงจะมีการยืนยันการนัดหมายใน sms โดยขอให้รีบลงทะเบียนโดยด่วน

ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่ แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 20,650 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 8 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก/โรงงานและในชุมชน 3,338 ราย ค้นหาเชิงรุกในเรือนจำ 262 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 17,321 ราย

ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 18,961,703 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 14,783,001 โดส เพิ่มขึ้น 290,616 โดส และเข็มที่สองจำนวน 4,778,702 โดส เพิ่มขึ้น 92,991 โดส

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube