โฆษก ศบศ.เผย ปชช.ยังใช้สิทธิมาตรการลดค่าครองชีพ
“โฆษก ศบศ.”เผย ประชาชนยังใช้สิทธิมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐต่อเนื่อง แม้บางพื้นที่ถูกล็อกดาวน์
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด เนื่องจากอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด- 29 เชิงรุกทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถาน หรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 แต่รัฐบาลก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนแรงงานกลุ่มอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ 9 ประเภท 29 จังหวัดล็อกดาวน์
โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้โอนเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ใน 10 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา) เข้าบัญชีไปแล้ว 2,434,182 คน เบิกจ่ายเป็นเงินรวมแล้ว 6,085.45 ล้านบาท แต่มีบางส่วนที่เกิดความขัดข้อง โอนเงินไม่ผ่าน เนื่องจากอาจจะมีข้อมูลผิดพลาด ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 หากข้อมูลได้รับแก้แก้ไขตรวจถูกต้องแล้ว จะดำเนินการโอนในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของนายจ้าง ม.33 สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลสถานะจำนวนลูกจ้าง และจะเริ่มทยอยโอนให้นายจ้าง 3,000 ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564
นายธนกร กล่าวต่อว่า แม้จะมีข้อติดขัดเรื่องการออกมาใช้จ่ายของประชาชนบางพื้นที่บ้างในช่วงนี้ แต่จากการรายงานของกระทรวงการคลังพบว่า มาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ยังมีการใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 37.66 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม รวม 58,495.4 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 52,466.8 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 26,600.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 25,866.1 ล้านบาท
2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 63,093 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 977.5 ล้านบาท
3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.45 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 4,760.2 ล้านบาท
4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 931,228 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 290.9 ล้านบาท
นายธนกร กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และเข้าใจสถานการณ์ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ให้สามารถเชื่อมกับโครงการ “คนละครึ่ง” สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังได้กำชับให้ธนาคารกรุงไทยเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการเชื่อมระบบโครงการ “คนละครึ่ง” กับระบบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ เพื่อรองรับการใช้จ่าย หลังกระทรวงการคลังโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาทเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งประชาชนสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นปี 2564
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news