วันที่ 6/9/64 เกิดแฮชแท็ก ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ขึ้นแล้วพุ่งติดเป็นอันดับ 1 ของประเทศแฮชแท็กนี้มีที่มาอย่างไร สะท้อนอะไรบ้าง อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานศึกษาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ต้องปิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้นักเรียน-นักศึกษาทุกระดับต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านแน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
ปัญหาการเรียนออนไลน์
จากที่สำรวจอ่านความเห็นจากแฮชแท็กนี้ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ
- นักเรียน-นักศึกษาไม่สะดวกต่อการเรียน ทำงานไม่ทัน ระบบไม่เหมาะต่อการเรียนออนไลน์
- มีความเครียดสูงในการเรียนออนไลน์
- บางครอบครัว-บางบ้าน สถานะไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ ตั้งแต่อุปกรณ์ ความเป็นอยู่
- ทำให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น
- เวลาครูกับนักเรียน-นักศึกษาไม่ตรงกัน
- การเรียนไม่รู้เรื่องเนื่องจากปัจจัยต่างๆ
- รู้สึกไม่ได้อะไรจากการเรียนออนไลน์
- ขาดความรู้สึกในการเจอเพื่อน ขาดประสบการณ์ในการเรียน
- ความเป็นส่วนตัวที่บางครั้งต้องเปิดกล้องหรือรายงานตลอด
- ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต
แน่นอนว่าคุณครูหรืออาจารย์ก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยต่อการเรียนออนไลน์เช่นกัน เพราะแจ้งว่าพบปัญหาไม่ต่างจากนักเรียน-นักศึกษา บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องการสอน การสอบ การทำรายงานต่อระบบการศึกษาที่ยุ่งยากในช่วงสถานการณ์แบบนี้
จากปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการเรียนออนไลน์ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้มีการตั้ง # เกิดขึ้น แล้วเรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้าง สรุปได้ดังนี้
ความเหลื่อมล้ำของการศึกษา นักเรียน-นักศึกษาจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ มีการคาดการณ์ว่าเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 2564 กว่า 65,000 คน นอกจากนี้ยังมีเสียงหรือการสำรวจที่พบว่า หลายครอบครัวก็ไม่สามารถซัพพอร์ทเรื่องอุปกรณ์ได้ ตั้งแต่มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้
ยังไม่มีการปรับตัวที่ชัดเจน การเรียน วิชา แนวทางปฏิบัตินั้นอาจจะเรียกได้ว่ายังไม่มีการปรับตัวที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นแค่การแก้ปัญหา ทุกอย่างเหมือนเดิมแค่เรียนออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
ความเครียดที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์นั้นส่งผลให้ผู้เรียนมีความเครียดมากกว่าเรียนที่สถานศึกษา ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นมาจาก ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ การไม่ได้เจอสังคม การบริการงานที่ได้รับไม่ทัน เวลาชีวิตไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เชื่อมโยงไปสู่การวางแผนของสถานศึกษากับตัวผู้เรียนด้วย
วิชาไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ แน่นอนว่าปัญหานี้เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ บางคณะหรือบางวิชา คงให้เรียนออนไลน์ไม่ได้ เช่น วิชาที่ต้องปฏิบัติในห้องแล็บ สตูดิโอ ต้องได้ทดลองทำจริงๆ จากการที่ปิดสถานศึกษาทำให้วิชาพวกนี้ไม่ได้ลงมือทำ ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์ต่อการเรียน
ขาดประสบการณ์ ความรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียน มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเสนอให้สถานศึกษาปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19 โดยมีมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนออนไลน์ ให้ทุกคนกลับมาเรียนตามปกติ เพราะนอกจากปัญหาด้านการเรียน-การสอนแล้ว ประสบการณ์ก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น กล่าวได้ว่ามันคือวิชาชีวิตที่สำคัญไม่แพ้ความรู้ในห้องเรียน
นี่เป็นเพียงมุมสะท้อนในเบื้องต้น แล้วการ #ไม่เรียนออนไลน์ ในครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง ที่เห็นได้ชัดเลยคือ การสไตรค์ (Strike)
การสไตรค์ (Strike)
คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยสันติวิธีรูปแบบหนึ่ง มีที่มาจากการนัดประท้วงหยุดงาน เพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง
ซึ่งนักเรียน-นักศึกษาได้ร่วมกันสไตรค์ หยุดเรียนออนไลน์ในวันที่ 6-10 กันยายนนี้ โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ ที่เห็นคือ
- กระทรวงศึกษาฯ ต้องออกคำสั่งปรับรูปแบบการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- หากสถานศึกษายังไม่สามารถเปิดได้ กระทรวงศึกษาฯ ต้องทำให้นักเรียนที่ขาดแคลน เข้าถึงการเรียนออนไลน์
- รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพฉีดให้ทุกคนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สังคมกลับมาเป็นปกติ
- กระทรวงศึกษาฯ ต้องจัดช่องทางไว้ช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดในการเรียนออนไลน์
- กระทรวงศึกษาฯ ต้องเร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพทั่วถึง ไม่มีค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นี้คือข้อเรียกร้องหลักๆ แน่นอนว่าก็มีการเรียกร้องอื่นๆด้วยเช่นกัน
สำหรับประเด็นนี้ก็คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะนับว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเลยทีเดียว ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการเยียวยาในเบื้องต้นสำหรับค่าเรียน-ค่าเทอม ร่วมถึงประสานหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายจุดที่มีหลายคนเห็นตรงกันว่าต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีชั่วโมงเรียนมากที่สุด แต่ประสิทธิภาพการศึกษายังน้อยอยู่ จากเหตุการณ์นี้จะมีความเคลื่อนไหวยังไงต่อก็ต้องรอดูต่อไป ติดตามได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news