กระทรวงสาธารณสุข เผย ไทยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ ยืนยัน วัคซีน MRNA ไม่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
วันนี้ (11 ต.ค. 64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และนพ.เฉวตรสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ผ่าน Facebook Live กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสุ่มตรวจเชื้อมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า อัลฟา และเบต้า โดยขณะนี้พบสายพันธุ์เดลต้า 97.5% สายพันธุ์อัลฟา 2.2% และสายพันธุ์เบต้า 0.3%
ดร.นพ.สุรัคเมธ กล่าวเสริมว่า สำหรับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่น่ากังวลนั้น ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทุกสายพันธุ์ยังคงไวต่อวัคซีน จึงขอให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตด้วย
ด้าน นพ.เฉวตรสรร นามวาท เปิดเผยประเด็นข่าวลือวัคซีน MRNA มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ว่า ข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบแจ้งไว้อย่างชัดเจน โดยทุกล็อตที่นำเข้ามาได้มีการตรวจสอบแล้ว เพื่อตรวจเช็กอีกครั้งถึงคุณภาพของวัคซีนแต่ละล็อตตั้งแต่มาตรฐานทางกายภาพ ซึ่งหากตรวจเจอความผิดปกติจะทำการระงับและทำลายทิ้ง โดยทุกกระบวนการทำตามมาตรฐานสากล
ส่วนประเด็นวัคซีนมีการปนเปื้อนนาโนพาร์ทิเคิลนั้น ยืนยันว่าเป็นส่วนประกอบในวัคซีนจริงแต่ปลอดภัย ซึ่งมีการรับอนุญาตจาก EU และสหรัฐอเมริกาแล้ว ทั้งนี้ ขอย้ำว่าก่อนจะมีการนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในไทยได้มีการฉีดในต่างประเทศมาก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ 11 ต.ค. ประเทศสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ได้ปลดประเทศไทยออกจาก Red List ที่ถือว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โดยทาง กระทรวงสาธารณสุข มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ การออกจาก red list มีการเน้นย้ำให้ไทยเร่งดำเนินการบรรจุข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ตรวจพบในไทยอย่างสม่ำเสมอลงใน GISAID รวมทั้งขอให้การตรวจสอบสายพันธุ์ของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่าจะสามารถตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างแม่นยำ แม้จะมีการติดเชื้อในอัตราส่วนเพียงเล็กน้อยของประชากรไทยทั้งหมด และชี้แจงและเปิดเผยระบบการตรวจเชื้อแบบ pcr และระบบการตรวจสายพันธุ์ที่ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อต่อวันของไทยให้มากขึ้นด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news