กรอ. เร่งขับเคลื่อนมาตรการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น หนุนยุทธศาสตร์ระยะยาว ลดก๊าซเรือนกระจกแก้ปัญหาโลกร้อน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมจัดสรรสิทธิปริมาณการนำเข้าสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ปี พ.ศ. 2565 ว่า ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศโอโซน โดยมีการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางอุตสาหกรรม ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือสาร HCFCs เป็นสารที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และมีพันธกรณีในการลดและเลิกใช้สารดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายให้เริ่มควบคุมปริมาณการใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 และให้ลดปริมาณการใช้ลงตามลำดับ โดยจะต้องควบคุมปริมาณการใช้สาร HCFCs ให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2583
ทั้งนี้ การจัดสรรสิทธิปริมาณการนำเข้าสาร HCFCs สำหรับ ปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ไม่เกิน 390 โอดีพีตัน จะทำให้ปริมาณการนำเข้าและการใช้สาร HCFCs ของประเทศไทยลดลงจากปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 8,450 เมตริกตัน หรือ 588 โอดีพีตัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในส่วนนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน ผ่านโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ซึ่งขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล เพื่อดำเนินการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ในปี พ.ศ. 2563 – 2566 ซึ่งเป็นมาตรการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (สเปรย์โฟม) รวมถึงภาคอุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น และตู้แช่เชิงพาณิชย์
นอกเหนือจากการลดการใช้สาร HCFCs ตามพันธกรณีของพิธีสารมอนทรีออล เพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนแล้ว มาตรการทดแทนและปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น เป็นมาตรการที่สำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีความตกลงปารีส โดยมาตรการดังกล่าว มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ของรัฐบาล รวมทั้งเป็นมาตรการหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะมีการหยิบยกและนำเสนอในการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ภายใต้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในวันที่ 1 – 2 พฤศจิกายน 2564 นี้ด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news