กรมรางฯเปิดเวทีให้ความรู้รับมือภัยทางไซเบอร์
กรมการขนส่งทางราง จัดเวทีถ่ายทอดความรู้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้านการขนส่งทางราง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและประชาสัมพันธ์ความรู้ ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) ให้เกิดการจัดทำมาตรฐาน มาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTS) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท เอเซียเอรา วัน จำกัด เข้าร่วมงาน
นาย พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการขนส่งทางรางขึ้น เพื่อยกระดับและพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการนี้ กรมการขนส่งทางราง ได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง และจัดทำมาตรการ ตลอดจนจัดทำร่างข้อบังคับทางกฎหมายลำดับต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และเนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในงานระบบรางมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบไซเบอร์มากขึ้นตามไปด้วย การมีองค์ความรู้และมาตรฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในระะบบรางจึงมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงทั้งด้านการใช้งานและการให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้องกับงานด้านระบบราง และประชาชนผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบรางอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 กำหนดบริการที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure : CII) จำนวน 7 ด้าน ซึ่งรวมถึงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และต่อมาคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ได้ประกาศเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ ลักษณะหน่วยงานที่มีภารกิจหรือให้บริการเป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และการมอบหมายการควบคุมและกำกับดูแล พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่ถูกประกาศเป็นหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล ยืนยันภารกิจหรือบริการที่สำคัญไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ต่อไป โดยกรมการขนส่งทางราง ซึ่งเป็น Regulator สำหรับบริการขนส่งทางราง ได้มีหนังสือถึง สกมช.ทราบเรียบร้อยแล้ว และปัจจุบัน ขร.ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าร่วมฝึกอบรมและฝึกทักษะการปฏิบัติงานร่วมกับ สกมช. เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานร่วมกับ สกมช. ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) เพื่อนำไปปรับใช้ในการป้องกัน Cyber attack ในระบบขนส่งทางรางต่อไป
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและประชาสัมพันธ์ความรู้ในครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้านการขนส่งราง” โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ Mr. Alexandru Caciuloiu ที่ปรึกษาด้านอาชญากรรมไซเบอร์และสกุลเงินดิจิทัล จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้าน Cyber Security and Cryptocurrency ในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ ให้มีความรอบรู้ในด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อให้สามารถจัดทำมาตรฐาน ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ และข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงการขนส่งทางรางได้อย่างครบถ้วน เพื่อให้การดำเนินงานระบบรางเป็นไปอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security)
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news