กฟผ. ลงนามความร่วมมือศึกษาลงทุนโซล่าเซลล์ร่วมกองทัพ สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ เผย 3 เดือนเห็นผล
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ซึ่งทางกองทัพบก พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งการลงนามในวันนี้เป็นการศึกษาในเบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดมลภาวะบนพื้นที่การดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่าง ๆ ประมาณ 4.5 ล้านไร่ เริ่มต้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3,000 ไร่ คาดว่า จะมีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเบื้องต้น 300 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม หลังการลงทุนมั่นใจว่า จะทำให้ประชาชน ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง รวมถึง สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน ลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้า และนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ เป็นการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศถดถอย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยปฏิรูปในเรื่องของพลังงานไฟฟ้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแสงอาทิตย์ ร่วมกับกองทัพบก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศนั้น หากได้พื้นที่ของกองทัพมาเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในส่วนนี้อาจทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงซึ่งจะส่งผลกับราคาพลังงานของประชาชนด้วย
แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนและกระบวนการต่างๆนั้น ในเบื้องต้นทั้งกฟผ.และกองทัพบก จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแผนในเรื่องของการลงทุน คาดว่าจะเห็นผลที่ชัดเจนภายในระยะเวลา 3 เดือนนี้
สำหรับ พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาด
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในการลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึง
ภาคครัวเรือน ที่มีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผล
กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ (new normal) พลังงานไฟฟ้าจึงเป็นพลังงานหลักของหลายภาคส่วน ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ด้านต้นทุนการผลิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาช่วยเสริมในระบบไฟฟ้า นอกจากส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตหากเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news