6 ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ร่วมเวทีดีเบต แก้ปัญหาคนกรุง ห้วข้อ กทม.โรคระบาด เมืองระบม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล PPTV จัดเวทีดีเบตผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหาคนกรุง ในหัวข้อ กทม.โรคระบาด เมืองระบม โดยสาระการดีเบตในหัวข้อดังกล่าว ว่าด้วยเรื่องของการแก้ปัญหาโรคระบาดที่ผ่านมา และกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคน กทม. ซึ่งถือเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ผู้ที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีวิธีแก้และรับมือปัญหาลักษณะนี้อย่างไร
เริ่มจากนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ต้องมีการเซ็ตระบบสาธารณสุขที่รวดเร็วกว่าเดิม และต้องมีความผู้นำ ด้วยการผลักดัน กทม. เป็นสวัสดิการสาธารณสุข แม้ กทม. จะมีสถานพยาบาลมากมาย แต่แพทย์กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการประชาชน
จึงต้องยกระดับศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่แต่ละเขตให้สามารถตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อลดปัญหาความยุ่งยาก นอกจากนี้ ยังควรต้องส่งเสริมระบบอินเตอร์เน็ต ที่สามารถบริการประชาชนด้านสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาจากทางระเบียบของ กทม.เอง ที่ทำให้ลักษณะการแก้ปัญหามีความล่าช้าด้วย
ขณะนายสกลธี ภัทธิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า ปัญหาคน กทม. ที่สำคัญ คือ การสร้างสุขภาพจิตที่ดี เพราะเป็นแนวทางที่จะทำให้สุขภาพทางกายของคน กทม. ดีตามไปด้วย อีกทั้งต้องดูแลตั้งแต่คนเกิด จนถึง ผู้สูงอายุ แม้หลายคนใน กทม. จะเริ่มปรับตัวที่จะอยู่กับโรคระบาดได้มากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องส่งเสริมคือ การบริการสาธารณสุขที่ต้องทันเวลา สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
ด้านนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ต้องปรับรูปแบบสาธารณสุข โดยภาวะปกติ กทม.นั้น มีโรงพยาบาลหลายแห่ง จึงต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการรักษาในระดับชุมชนก่อนเป็นอับดับแรก เพื่อให้คนระดับชุมชนเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนพบปัญหาโรคระบาดมากมาย
ดังนั้น ผู้ที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นหลักสำคัญในการประสานงานในระดับหน่วยงานสาธารณสุข สร้างการบูรณาการแบบเครือข่าย ให้ประชาชนมั่นใจในการรับการรักษาที่รวดเร็ว
จากนั้น พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ การบริการที่ทั่วถึงนั้น กทม.มีโรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าว ได้มีแนวคิดผลักดันให้มีสถานพยาบาล 4 มุมเมือง เพิ่มโรงพยาบาลประจำเขต ลดภาระการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ทั้งนี้ในสมัยที่ตนเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการผลักดันให้มีสถานพยาบาลแล้ว 3 มุมเมือง ขาดอีกเพียง 1 แห่ง จึงขอโอกาสชาว กทม. ให้เข้ามาทำงานต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นสิทธิการรักษาพยาบาลของคนในชุมชน พบชัดเจนว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำ ชุมชนที่แม้จะมีการขึ้นทะเบียนเหมือนกัน แต่ได้รับการบริการที่ต่างกัน ดังนั้น ต้องให้คนกรุงเทพฯ ได้สิทธิ์บัตรทองที่เหมาะสมเท่ากัน และเป็นสิทธิ์พื้นฐานด้านสาธารณสุข ขณะสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น และขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้อง งบประมาณของ กทม.ในส่วนดังกล่าว ยังมีน้อย ต้องมีการรองรับการรักษาดังกล่าว โดยไม่มีการปฏิเสธ
ปิดท้ายที่ นางรสนา โตสิตระกูลผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ยืนยันว่า การจัดสรรสวัสดิการคน กทม. ระดับล่าง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงด่วน โดยจะให้ 50 เขต ของกทม. ตรวจสอบตามชุมชน ถึงสวัสดิการแต่ละคน ว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน เมื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเริ่มแรกส่วนนี้ได้ ก็สามรรถขยายการบริการการรักษาได้ และสิ่งสำคัญ คือ การใช้ภาคประชาสังคมขับเคลื่อน ร่วมกับระบบสาธารณสุข เนื่องจากที่ผ่านมานั้น หลายกรณี ในการแก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาโควิด-19 ก็มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนอย่างมาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews