กษ.ยื่น “เลี้ยงควาย-เกษตรเชิงนิเวศ” ทะเลน้อยมรดกโลก
กษ.ยื่น “เลี้ยงควาย-เกษตรเชิงนิเวศ” ทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นมรดกทางการเกษตรโลก สอดรับนโยบาย Soft Power
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเป็นอีกหน่วยงานหลักในการส่งเสริม Soft Powerตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการส่งเสริมให้ อาหารไทย แหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต เป็นที่เลื่องลือและยอมรับทั่วโลก
ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมด้านการเกษตรที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารขอรับรอง “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย” จ.พัทลุง ที่สืบทอดกันมากว่า 250 ปี เป็น “มรดกทางการเกษตรโลก”(Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO
พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากจนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “Ramsar site” และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและยั่งยืนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า เกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีรายได้หลักจากการขายควาย ประกอบกับการทำประมง ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูดด้านระบบนิเวศ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด
ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา และในส่วนของด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อมีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควาย นอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วย
“หากพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลก จะทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว โอกาสทางการเกษตรการจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาแต่ดั้งเดิม วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล”รองโฆษกกล่าว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews