ปลัดกทม. สั่งกำชับทุกหน่วยเลือกตั้ง นับทุกสีปากกา เป็นบัตรดี หลังเกิดความสับสน เผยหากพบบัตรเขย่ง ส่ง กกต. วินิจฉัยทันที ยังไม่รวมเป็นคะแนน
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีความสับสน เรื่องการใช้สีปากกาในการลงคะแนนเลือกตั้ง ย้ำว่าตามกฏหมายและระเบียบ ไม่ได้ห้ามใช้ปากกาสีแดงสีดำในการกาบัตรเลือกตั้ง ดังนั้น หากประชาชนนำปากกามาและมีการกาอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจับปากกาสีใดก็ตาม ส่วนตัวได้กำชับทุกหน่วยเลือกตั้งนับเป็นบัตรดี
ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่ากรณีนี้เกิดความสับสนได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงว่า จะต้องใช้ปากกาสีใดสีหนึ่ง แต่ส่วนตัวเข้าใจว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คงห่วงว่าหากไม่ใช้ปากกาสีน้ำเงินแล้ว จะทำให้การพิจารณาบัตรเสียเป็นไปได้ยาก เพราะปากกาสีน้ำเงินสามารถดูได้ง่ายและชัดเจนกว่า ขอให้มั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาในการนับคะแนนในวันนี้
เพราะได้กำชับไปทุกหน่วยเลือกตั้งแล้ว ส่วนข่าวที่ออกไปที่ไม่ตรงกันระหว่าง กกต.และกทม. นั้น จะสร้างความสับสนให้กรรมการประจำหน่วย หรือ กปน. นั้น นายขจิตขอไม่ให้ความเห็น แต่ยืนยันว่า ได้กำชับไปยังหน่วยเลือกตั้งแล้ว
สำหรับปัญหาร้องเรียน ที่บางหน่วยมีการฉีกบัตรเลือกตั้งโดยติดต้นขั้วของบัตรเลือกตั้งไปด้วย ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่ถือว่า เป็นบัตรเสีย ซึ่ง เมื่อมีการขานคะแนนหรือเมื่อมีการพับบัตร เจ้าหน้าที่จะเห็นต้นขั้วดังกล่าวอยู่แล้ว สามารถดึงออกในภายหลังได้
อย่างไรก็ตาม การนับคะแนนในวันนี้ จะมีการนับที่หน่วยเลือกตั้งเพียงรอบเดียว หากเกิดกรณีที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์กับบัตรไม่ตรงกัน หรือบัตรเขย่ง ในหน่วยเลือกตั้งใด ก็จะไม่มีการนับคะแนนใหม่แต่จะเป็นการยื่นคำร้องไปยัง กกต. วินิจฉัย ว่าจะมีการนับใหม่หรือไม่ อย่างไร แล้วจะมีบางหน่วยที่ไม่สามารถส่งคะแนนได้
นอกจากนี้ นายขจิต ยอมรับว่า เรื่องนี้ ได้พยายามประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า มีผู้ไปเพิ่มชื่อเพียงพันกว่าคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเฉพาะผู้ว่าฯ กทม.ถึง 44,000 รายชื่อ ดังนั้นการเลือกตั้งในวันนี้จะมีคนอยู่ประมาณ 40,000 กว่าคน ที่มีสิทธิ์เฉพาะเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว
ส่วนตัวต้องขอโทษประชาชนที่ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้อย่างทั่วถึง แต่ที่ผ่านมาได้พยายามส่งจดหมายแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านแล้ว โดยในเอกสารดังกล่าวจะระบุชัดว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งได้กี่ประเภท รวมถึงในพื้นที่แสดงข้อมูลต่างๆ ก็ระบุชัด เช่น ข้อมูลบนเว็บไซต์ ตามทะเบียนของกรมการปกครอง
แต่ก็ต้องขออภัย เพราะกระบวนการค่อนข้างมีความซับซ้อน จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และไม่สามารถอธิบายได้ดีพอ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ กทม.ได้เสนอเรื่องไปให้กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรพิจารณากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว ให้ผู้ที่ย้ายเขตเลือกตั้ง มาไม่ครบ 1 ปี ก็สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews