ปิดฉากความยิ่งใหญ่เทศกาลปั่น L’Etape Thailand Tour de France Phang Nga 2022 ณ จังหวัดพังงา 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จังหวัดเจ้าภาพพังงา ภาครัฐและเอกชนเป็นปลื้มเงินสะพัดเกินเป้ากว่า 200 ล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) พร้อมด้วย จังหวัดพังงา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท มูฟ เอเชีย จำกัด พร้อมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการจังหวัดพังงา กว่า 10 องค์กรเป็นปลื้มกับการจัดเทศกาลการแข่งขันปั่นระดับโลก “เลอแทป ไทยแลนด์ บาย ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ พังงา 2022” ปีที่ 3 ที่เพิ่งจบลงอย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม ตามคอนเซ็ปต์ “The Final Great Memory” พร้อมกู้วิกฤตนำรายได้เชิงเศรษฐกิจสู่จังหวัดเจ้าภาพพังงา เกินเป้ากว่า 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนการจัดแข่งขันภาครัฐและเอกชน ร่วมกับจังหวัดเจ้าภาพวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งนักกีฬาและคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าร่วมงาน
ซึ่งมีบรรดานักปั่นน่องเหล็กทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมชิงชัยร่วม 2,000 คน จาก 23 ประเทศในระยะทาง 75 กิโลเมตร และ145 กิโลเมตร เข้าเส้นชัย ที่ถนนสายวัฒนธรรมเมืองเก่าตะกั่วป่า หลังจากการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะแต่ละประเภทแล้ว ได้มีพิธีส่งมอบธง LETAPE THAILAND ให้กับนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เจ้าภาพการแข่งขันครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม2565 นี้
ภายหลัง นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) ทีเส็บ กล่าวว่า เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในการดึงลิขสิทธิ์การจัดงานเทศกาล “เลอแทป ไทยแลนด์ บาย ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ พังงา ”มาจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมาล้วนได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยพันธกิจของทาง ทีเส็บ เรามีพันธกิจหลักๆ อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเราดึงงานจากนานาชาติเพื่อที่จะมาเพิ่มเศรษฐกิจเชิงบวกให้กับประเทศ แล้วก็มาตอบสนองนโยบายภาครัฐในแต่ละ สาขาอุตสาหกรรมที่เป็นจุดสนใจ เรื่องที่สอง เราประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการที่จะจัดงานในระดับนานาชาติ เรื่องที่สาม เราจะต้องพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการของไทยไม่ว่าจะเป็น ออแกไนซ์เซอร์ สถานที่จัดงาน เพื่อที่จะรองรับงานในระดับนานาชาติได้ อันนี้คือพันธกิจหลักของทาง ทีเส็บ
นอกจากนี้เรายังพร้อมที่จะริเริ่มและสนับสนุนงานจังหวัดที่มีอยู่ปกติอยู่แล้ว ที่เป็นเฟสติวัล หรือเป็นเมกะอีเวนท์ และเป็นอีเวนท์ที่สามารถยกระดับต่อยอดให้มีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล และมีความเป็นมาตรฐาน รวมถึงการยกระดับโลโค่ของเมือง ก็คือแต่ละเมืองจะต้องมีความสามารถมีงานของตัวเอง
มีจดสิทธิบัตรของตัวเอง แล้วต่อไปก็เป็นสินทรัพย์ของเมืองและอุตสาหกรรมของประเทศในการที่ส่งออกได้ พร้อมดึงงานระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย และกระจายสู่เมืองต่างๆ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เมืองและออแกไนซ์เซอร์ของเมืองและของประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ในนานาชาติและเครือข่ายทั่วโลก
นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานระดับโลก 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งในนี้เรายังคงมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อสร้างความทรงจำที่ประทับใจให้กับนักปั่นทุกคนตามคอนเซ็ปต์ “The Final Great Memory” ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นผิวถนนเส้นทางการแข่งขัน ปรับภูมิทัศน์สองข้างทางท่ามกลางบรรยากาศอันงดงามของท้องทะเลอันดามัน ตลอดจนมาตรการด้านสุขอนามัย
โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี จากทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวพังงา สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดพังงา เทศมนตรีเมืองตะกั่วป่า เทศบาลตำบลคึกคับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ร้านค้า โรงแรม การคมนาคมขนส่งและภาคประชาชน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การเป็นเจ้าภาพงานแข่งขันระดับโลกเป็นเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการจุดประกายให้กับทุกภาคส่วน ได้เห็นศักยภาพของจังหวัดพังงา ทำให้เห็นว่าจ.พังงายังสามารถทำกิจกรรมหรือเทศกาลอะไรได้อีกมากมาย สร้างการตื่นตัวเรื่องการออกกำลังกาย การปั่นจักรยานและยังนำมาสู่การต่อยอดการส่งเสริมด้านกีฬาอื่นๆ อีกด้วย
นายวิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายบริหาร กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะกลับมาเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการกีฬาที่ได้มาตรฐานระดับโลกผ่านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ผมเชื่อว่ารูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาคึกคักอย่างมาก เพราะเราต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นให้ได้
ในโอกาสนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับ จ.พิษณุโลก ที่ได้เป็นเจ้าภาพต่อและเชื่อว่าจะสามารถทำได้ดีขึ้นไปอีก โดยอยากให้หลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมมือกัน ช่วยกันสนับสนุนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีรายได้เข้ามา อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาในใจการเล่นกีฬามากขึ้นด้วย และยังเป็นความสำเร็จของการกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่ายด้วย
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมมองว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีสนามแข่งระดับโลกขนาดนี้มาอยู่ในประเทศไทย ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ Sport Tourism จะต้องไปคู่กัน เรามีอีเวนท์ใหญ่ในประเทศ เป็นเวทีที่สามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาล เม็ดเงินจะสะพัดเป็นร้อยๆ ล้าน
ซึ่งการผ่อนคลายเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศอย่างน้อยก็ 1 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ทำให้การจัดอีเวนท์เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และผมขอชื่นชมความพร้อม จ.พังงา ที่สามารถจัดงานได้ออกมาเป็นแบบอย่างให้จังหวัดอื่นๆ ได้เป็นแบบอย่าง เพราะการจัดงานในครั้งนี้จะถูกเผยแพร่ถึงฐานแฟนคลับของตูร์ เดอ ฟร็องส์อีกนับล้านคนทั่วโลก ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนกระจายรายได้สู่เมืองรองต่างๆ
สำหรับการจัดงานเทศกาล “เลอแทป ไทยแลนด์ บาย ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ พังงา” ครั้งที่ 3 ได้ปิดฉากลงไปที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตลอด 2 ครั้งที่ผ่านมาล้วนได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยในปี 2018 ซึ่งเป็นปีแรก มีนักปั่นจากทั่วโลกเข้าร่วม 1,500 คน ก่อนที่ปี 2019 จะเพิ่มเป็น 2,000 คน โดยเป็นนักปั่นต่างชาติถึง 16%
ส่งผลให้ได้รับรางวัล “อีเวนท์จักรยานยอดเยี่ยมระดับเอเชีย ประจำปี 2019” จากองค์กรกีฬาเพื่อมวลชนระดับโลก MPW (MASS PARTICIPATION WORLD) จากผู้ท้าชิงกว่า 20 อีเวนท์ ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติจากความร่วมมือร่วมใจ ทั้งของชาวไทยทุกภาคส่วน ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ตลอดจนเจ้าภาพและประชาชนในจังหวัดพังงา
นอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นในโมเดลใหม่ที่ดี ในการดึงงานลิขสิทธิ์ที่มี Fan Base จากทั่วโลก แต่อาจต้องเพิ่มกลยุทธ์การจัดแข่งขันในรูปแบบของ Mass Participation Sports ที่มีผู้เข้าร่วมที่เป็น Mass หรือ Amateur (สมัครเล่น) ที่ไม่ใช่ กีฬาเป็นเลิศมากกกว่านี้ โดยหากมีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว
เชื่อว่าจะมีนักกีฬาเข้าร่วมเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30 ประเทศ รวมถึงนักปั่นและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีกราวๆ 2,000 กว่าคน และเกิดการกระตุ้น Economic Impact มากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลลดมาตรการผ่อนคลายแล้ว มั่นใจว่า จะมีเงินหมุนเวียนสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 – 20% ต่อปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเราด้วย
?โดยการแข่งขันครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ จ.พิษณุโลก ช่วงเดือนธันวาคม 2565 หรือปลายปีนี้ ซึ่งรูปแบบการแข่งขัน อาจจะมีการพัฒนารูปแบบกิจกรรมเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักกีฬาที่เป็นแบบ มวลชน (Citizen Atheletes) ที่มีหลายกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มที่กำลังสนใจมากขึ้น อาทิ กลุ่มครอบครัว, ชุมชนที่เริ่มใช้จักรยาน เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews