ถ้านับการปล้นอาวุธปืนที่ค่ายปิเหล็งในวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของไฟใต้
หรือ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจนถึงวันนี้ กินเวลากว่า 18 ปีกว่าแล้ว เสียงเพรียกเรียกหาสันติภาพ สันติสุข ยังคงดำเนินการต่อไป ใน 18 ปีที่ผ่านมา มีตัวละครเกี่ยวข้องมากมาย และหนึ่งในนั้นคือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ ในหลายมิติ
เมื่อเร็วๆนี้ ในเวทีของ สำนักข่าว The Motive ที่จัดงาน ‘SCENARIO PATANI อนาคตปาตานี: ภาพชายแดนใต้ในวิสัยทัศน์ใหม่’ ทักษิณยอมรับว่า สมัยเป็นนายกฯมุ่งด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากเกินไป ซึ่งตอนหลังพบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อต้องการที่จะเปลี่ยนทิศทางในภายหลังกลับโดนรัฐประหารเสียก่อน และวันนี้เราใช้เงินเป็นแสนล้านกับทางทหารแล้วแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลย แล้วยังสูญเสียชีวิตพี่น้องทหารไปอีกหลายคน”
ส่วนวิธีการแก้ปัญหา ทักษิณมองว่า เราต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วมาพยายามหาศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ จากนั้นให้นำเทคโนโลยี ซอฟต์พาวเวอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่ากว่า ตนมั่นใจว่าถ้ามีการพูดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เพิ่มเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการศึกษาเหตุการณ์จะสงบ แล้วจะหาแนวทางพัฒนาร่วมกันไปได้
สำหรับประเด็น ที่ทักษิณ ถูกถล่มอย่างหนัก เช่นหลังเหตุปล้นปืนที่นราธิวาสเมื่อปี 2547 แล้ว ทักษิณ นายกฯในขณะนั้น กล่าวว่าผู้ก่อเหตุเป็นแก๊งวัยรุ่น เป็น “โจร” ในจังหวัดภาคใต้” ที่กระทำการ “โดยไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ” และก่อนหน้านั้น ทักษิณ เคยเอ่ยถึงผู้ก่อเหตุว่าเป็น “โจรกระจอก” ซึ่งทาง นายหัวชวน ผู้มากบารมีค่ายสีฟ้า
เคยพูดไว้ระหว่างแถลงนโยบายรัฐบาลทักษิณ ปี 2554 ว่า ในเรื่องไฟใต้ในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาล สามารถแก้ปัญหาได้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลของทักษิณ ก็เกิดปัญหา ซึ่งทักษิณก็รับสารภาพแล้วในเรื่องการใช้กำปั้นเหล็กแก้ปัญหา เพราะปัญหาเกิดขึ้นจากคำพูดว่าโจรกระจอก
ต่อมาในปี 2559 นายหัวชวนพูดเรื่องนี้อีกครั้งว่าสถานการณ์ภาคใต้ไม่สามารถจัดการได้ด้วยการใช้ความรุนแรง เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดร้ายแรงของรัฐบาลยุคทักษิณด้วยคำพูดเชิงสัญลักษณ์ว่า “โจรกระจอก” และใช้มาตรการรุนแรงทั้งกรือเซะและตากใบ และยังเคยยอมรับต่อสื่อต่างชาติว่าผิดพลาด แม้ปัจจุบันจะพูดกลับไปมาก็ตาม รวมถึงการยุบองค์กร พตท.43 , ศอ.บต. และคำสั่งปราบให้เสร็จภายใน 60 วัน สมัยนั้นล้วนเป็นจุดเกิดปัญหาที่ยากจะมาแก้ไขในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีเหตุโศกนาฏกรรม กรือเซะ-ตากใบ ที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อปี 2564 ระหว่างพูดคุยใน Clubhouse ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนถามเรื่องเหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบทำให้เขากระอักกระอ่วนใจในการตอบ พร้อมระบุเพียงว่า”รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ ” หลังจากนั้นเพียงลัดมือเดียว โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในทันที พร้อมระบุว่า อดีตนายกฯอึกอักที่จะตอบอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หนึ่งในขุนพลค้ำบัลลังก์พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาโต้ ทักษิณ ว่าปัจจุบันแนวทางที่รัฐบาลทำอยู่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด แล้วเพราะ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่จะทำให้การแก้ปัญหามีความยั่งยืน ดำรงความเป็นเอกราช และอยู่ร่วมกันได้ทุกเชื้อชาติทุกศาสนา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews