สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เดินหน้าแผน 3 ด้าน สร้างงานสร้างอาชีพให้กับเศรษฐกิจชุมชน
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (sacit) เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยภายหลังการเปลี่ยนชื่อองค์กร ว่า การขับเคลื่อนการทำงาน ยังคงเดินหน้าภารกิจเดิม แต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น และกว้างขึ้น เพื่อผลักดันให้งานหัตถศิลปกรรมของไทยยังคงอยู่ได้ และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน
สำหรับงานด้านการสืบสาน จะผลักดันให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป โดยผ่านกิจกรรมสำคัญในการยกย่องเชิดชูกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม
ซึ่งได้คัดเลือกเป็นประจำทุกปี นำมายกย่องเชิดชูให้เป็นที่รู้จัก สร้างพื้นที่ทางการตลาดต่าง ๆ ให้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่างให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ด้านการสร้างสรรค์ จะเข้าไปช่วยพัฒนางานศิลปหัตถกรรมให้เหมาะกับยุคสมัยและกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่ต้องการงานดั้งเดิม ชื่นชอบในอัตลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมก็ยังคงรักษาไว้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ให้มีการสร้างสรรค์ทั้งในเรื่องของงานดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามตอบโจทย์การใช้งานคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย
รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตแต่ให้คงไว้ซึ่งจุดเด่นของงานศิลปหัตถกรรมไทยเช่นเดิม
และด้านการส่งเสริม จะมุ่งเน้นด้านการตลาดที่ครอบคลุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การทำแพลตฟอร์มจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ sacitshop.com , sacitshop Application หรือการจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นงาน sacit เพลินคราฟต์ , sacit Craft Fair , งานอัตลักษณ์แห่งสยาม และ Craft Bangkok ที่เป็นงานใหญ่ของ sacit
นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อการสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ Friend of sacit ที่เป็นศิลปิน ดารา ชื่อดังระดับประเทศ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมการใช้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อและเลือกใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยในชีวิตประจำวัน
โดยสร้างการรับรู้และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และอีกกิจกรรม คือ การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานการออกแบบตัดเย็บชุดจากผ้าไทย และส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดชิงเงินรางวัล และมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับประเทศ
โดยเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาลองเรียนรู้ในกระบวนการและขั้นตอนของการสร้างสรรค์ รับรู้ในคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย และได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือและชุมชนผู้ผลิต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews