Home
|
เศรษฐกิจ

ม.หอการค้าฯคาด “วันแม่” ใช้จ่ายเงินสะพัด 10,000 ลบ.

Featured Image
ม.หอการค้าไทย ประเมินการใช้จ่าย”วันแม่” เงินสะพัดกว่า 10,000 ล้านบาท โต 9% เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงวางแผนทำกิจกรรมมากขึ้น

 

 

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแม่แห่งชาติปีนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,288 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยปีนี้มีการวางแผนใช้จ่ายในการทำกิจกรรมร่วมกับแม่เพิ่มขึ้นถึง 40.2% เนื่องจากเป็นวันพิเศษ และเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น เพราะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 36.5% วางแผนการใช้จ่ายลดลง เพราะยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี จึงต้องการประหยัด และมีภาระค่าใช้จ่าย – มีหนี้มากขึ้น

 

 

สำหรับกิจกรรมส่วนใหญ่จะพาแม่ไปทานข้าวนอกบ้าน ใช้เงินเฉลี่ย 1,880 บาท / ไปทำบุญ เฉลี่ยประมาณ 1,541 บาท และพาไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งแบบไม่ค้างคืน ประมาณ 4,900 บาท ส่วนแบบค้างคืน ใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท นอกจากนี้ยังเตรียมซื้อของขวัญ ทั้งทองคำ และเงินสด รวมไปถึงนำพวงมาลัย/ดอกไม้ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกายเพื่อไหว้แม่

 

 

โดยคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงวันแม่ปีนี้ ประมาณ 10,883 ล้านบาท ขยายตัวที่ 9% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากในปี 2564 ไม่ได้ทำการสำรวจจากสถานการณ์โควิด สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 จากในปี 2554 ที่ขยายตัวถึง 12.7% เนื่องไม่ค่อยกังวลกับสถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บ

 

 

โดยนายธนวรรธน์ ได้ย้ำว่าผลสำรวจนี้ ถือเป็นโพลแรก ที่สะท้อนชัดเจนถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากคนเริ่มคลายความกังวลกับสถานการณ์โควิด ทำให้เริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นสอดคล้องกับข้อมูลของหลายหน่วยงาน เช่น ยอดขายรถ-ขายบ้าน และตัวเลขการจับจ่าย ซึ่งมากจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ปีนี้ คาดว่าจะโต 5-8% รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้น คาดว่า นักท่องเที่ยวจะเข้าไทย 8-10 ล้านคนในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

 

 

แต่ทั้งนี้ถือว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบเปราะบาง เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือรัฐบาล จำเป็นต้องดูแลราคาพลังงานทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า เพื่อตรึงค่าครองชีพ แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุดกรกฎาคม จะอยู่ในระดับชะลอจากเดือนมิถุนายน ไม่มีแรงกดดันต่อค่าครองชีพ

 

 

และต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จะปรับขึ้นกี่ครั้ง แต่คาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% แน่นอน เพื่อดึงเงินเฟ้อ ส่วนจะพิจารณาปรับขึ้นอีก ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมุมมองของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะโตได้ 3-3.5%

 

 

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น เชื่อว่าภาคเอกชนเอง เห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าแรง แต่บางธุรกิจ ยังได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนสูง และกำลังซื้อที่ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นต้องพิจารณาภายใต้คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในกรอบที่คาดการณ์กันว่าจะปรับประมาณ 7-8% นั้นน่าจะสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเชื่อว่า จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงบวก มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1,500 – 2,400 ล้านบาท หรือ ปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube