สั่งตรึงราคาสินค้า รัฐขายของราคาประหยัด มองแบบฉาบฉวยอาจดีต่อประชาชน ได้ของราคาถูก ประหยัดเงินในกระเป๋าแต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครได้ประโยชน์
เวลานี้ยังคงมีคำสั่งในการตรึงราคาสินค้า จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ทำให้สินค้าควบคุม 56 รายการ ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กลไกตลาดไม่ได้ทำงานการแข่งขันด้านราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง หลายสินค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการที่มีข่าวปรับราคาช่วงนี้ รัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน
เพราะสินค้าดังกล่าวมีการแข่งขันสูงผู้ประกอบการผลิตปรับราคาขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้าจำเป็นต้องปรับขึ้นบ้าง เพื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถผลิตต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นจะเหลือเพียงผู้ผลิตรายใหญ่ผูกขาดตลาด
เช่น กรณีของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มองว่าต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลาหลายปี การขอปรับขึ้นซองละ 1-2 บาท ไม่ถือว่าเกินสมควร แต่หากภาครัฐยังคงดึงเวลาออกไป อาจส่งผลต่อตลาดในเรื่องของการผลิต
ผู้ประกอบการอาจต้องหาทางออกใหม่ด้วยการยกเลิกผลิตสินค้าเดิมและผลิตสินค้าตัวใหม่กำหนดราคาขายใหม่ ที่สุดแล้วคนที่จะ ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค การต่อรองราคาที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น มองว่าการอนุญาตขึ้นราคา 1 บาท
อาจส่งผลดีกว่าการสั่งตรึงราคาสินค้าแบบไม่มีกำหนดจนสินค้าขาดตลาด หรือสำหรับผู้ผลิตรายเล็กอื่นๆ คุมราคาอาจทำให้ต้องเลิกผลิตเลิกจ้างแรงงานเวลานั้นปล่อยผ่านขึ้นราคาได้ แต่คงไม่มีคนซื้อ
นอกจากนี้ อยากบอกว่า สินค้าบางชนิดได้รับผลกระทบจากต้นทุนแอบแฝงมากเกินไปจนทำให้ราคาสินค้าราคาแพงขึ้นเกินจริง ไม่ได้เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตเพียงอย่างเดียว เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าวางสินค้า ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการอื่นๆ
ขณะที่ต้นทุนหลักบางชนิดรัฐบาลควรดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ควบคุมราคาปลายทาง ผู้ประกอบการโดนทั้งขึ้นทั้งลอง โดยเฉพาะ ค่าไฟฟ้าและค่าขนส่ง
ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลัก หากรัฐบาลดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ผู้ประกอบการก็ไม่จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของราคาแพงมาขายถูกช่วยประชาชนปลายทาง
เพราะที่สุดแล้วคงไม่มีใครช่วยใครได้ นอกจากให้กลไกตลาดทำหน้าที่แข่งขันกันเอง เพราะหากยิ่งดึงเวลาออกไป รายเล็กหายออกจากตลาด จะเกิดปัญหาการผูกขาดของรายใหญ่ อนาคตคงหมดทางต่อรอง
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ก็ยังคงขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้า 18 หมวดสำคัญ คงราคาสินค้าไว้ก่อนและให้ใช้นโยบายวิน-วิน โมเดล เจรจาให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค
สินค้าจำเป็นที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมปรับราคาขึ้นได้แต่ให้น้อยที่สุดและสินค้าต้องไม่ขาดตลาด ระยะเวลาขอความร่วมมือไม่แน่นอน ใช้ว่าให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เวลานี้มีใครวินคงต้องคิดอีกที
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews