ตู่-ป้อม-หนู ใครจะเป็นนายกฯ
ยังต้องติดตามสำหรับประเด็นร้อนปรอทแตก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่รอการชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี หากนับการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลังการรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งเกิดข้อถกเถียงว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในอำนาจได้ต่อไปหรือไม่
โดยทางออกมีอยู่3-4 แบบคือ 1.ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความเป็นคุณกับ พล.อ. ประยุทธ์ ให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯได้ต่อไป พล.อ. ประยุทธ์ก็จะลากยาวอยู่ในวงจรอำนาจต่อไปอีก 7 เดือน จนครบวาระในวันที่ 22 มีนาคม 2566
จากนั้น กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯรักษาการต่อไปอีก2 เดือนจนกว่าจะมีการประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง รวมระยะเวลาแล้วปาไป 9 เดือน
ทางออกที่ 2 พล.อ. ประยุทธ์ ชิงยุบสภาก่อน จะเป็นการเปิดโอกาสให้ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คนที่1 และเจ้าสำนักพลังประชารัฐ จะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศในฐานะรักษาการนายกฯ
ซึ่งมีเวลาแค่ 2เดือน หลังจากนั้นกกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ใช้เวลาอีก 2เดือน และรวมสิริเวลาแล้วบิ๊กป้อมจะสูดดมอำนาจเต็มปอดได้แค่ 4เดือน
ทางออกที่ 3 หากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความว่า พล.อ. ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น นายกฯคนที่ 30 จะคือใคร ซึ่งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีจากพรรคการเมือง
ที่มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จาก พรรคเพื่อไทย เหลือโควตา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ส่วน “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ชิงลาออกจากพรรคไปแล้ว
ส่วนอีก 2 คน คือ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จากพรรคประชาธิปัตย์ และ”เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเมื่อส่องทั้ง 5 รายชื่อแล้วพบว่า “เสี่ยหนู” มีภาษีที่จะเป็น “นายกฯส้มหล่น” มากที่สุด
ซึ่ง เสี่ยหนูก็แสดงความพร้อมจะเป็นผู้นำคนต่อไป ด้วยกาาระบุอ้อมๆว่า ชื่อผมอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคภูมิใจไทยมา 4 ปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรก็ต้องพร้อม”
ทางออกที่ 4 หากมีการคัดสรรนายกฯคนใหม่จาก 5 รายชื่อแคนนิเดต แล้ว ยังไม่สามารถเลือกได้ ยังมีทางออกสุดท้ายคือ “นายกฯนอกบัญชี” โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เขียนไว้กรณีเกิดไม่สามารถเลือก
“นายกฯในบัญชี” ได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติ “ยกเว้น” ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง
จากนั้นเมื่อรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้สภาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือ นอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ แล้วค่อยดำเนินการเลือกนายกฯ ในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป ส่วนที่ว่า รายชื่อนายกฯคนนอกจะเป็นใครนั้น
ชื่อของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ บิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เกจิการเมืองบางรายฟันธงว่า เชื่อได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ไปต่อด้วยเหตุผลที่ว่านับ1ตำแหน่งนายรัฐมนตรี ในวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 และยกมาตรา 264 ความเป็นนายกฯก่อนหน้านั้นเป็นนายกฯรักษาการก่อนที่ครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงไม่นับรวมเป็นวาระ 8ปีนั้นเอง!
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews