นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคใต้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ติดตามผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรายงานสถานการณ์และสั่งการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อย่างมาก โดยหากมีการประเมินความเสียหายได้แล้วอาจจะมีการประชุมร่วมกับทีมผู้บริหารกระทรวงเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป ปัจจุบันโรงงานในภาคใต้กมีเป็นจำนวนมาก มีการจ้างงานหลายหมื่นคน ดังนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า ได้ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยได้นำสิ่งของบริจาคไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนในภาคอุตสาหกรรมได้รับรายงานจากอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ที่สำรวจ ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 70 ราย มูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 37 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 57 ราย มูลค่าความเสียหาย 26.8 บาท 2. ผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 8 ราย มูลค่าความเสียหาย 10.1 ล้านบาท และ 3. ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จำนวน 5 ราย มูลค่าความเสียหาย 770,000 บาท สำหรับโรงงานที่เข้าไปตรวจเยี่ยม เป็นโรงงานประกอบธุรกิจเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอเซียเหมืองแร่อุตสาหกรรม จำกัด อ.ท่าศาลา ถูกน้ำท่วมเข้าไปในโรงงานทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ และมีแร่บางส่วนที่เตรียมส่งมอบลูกค้าสูญหายไปกับน้ำ ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 6 ล้านบาท แห่งที่ 2 คือ บริษัท พี แอนด์ เอส แบไรท์ ไมน์นิ่ง จำกัด อ.ท่าศาลา น้ำท่วมโรงแต่งแร่ทำให้ต้องหยุดประกอบกิจการ มูลค่าความเสียหาย 3 แสนบาท น.ส.สุชาดา กล่าวว่า จากนั้นได้ลงพื้นที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนคร แดรี่ พลัส อ.พระพรหม ประกอบกิจการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ถูกน้ำท่วมเครื่องจักรต้องหยุดประกอบกิจการ รวมถึงวัตถุดิบคือ น้ำนมดิบที่รับซื้อมาแล้วเสียหาย ต้องทิ้งทั้งหมด และทำให้ไม่สามารถส่งนมโรงเรียนได้ตามเวลาที่กำหนด ความเสียหายเบื้องต้นรวมกว่า 8 ล้านบาทและห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.ซี.จักรกล และก่อสร้าง อ.ร่อนพิบูลย์ ประกอบกิจการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตทุกชนิด และแอสฟัสท์ติกคอนกรีต ได้รับผลกระทบทั้งในโรงงาน รถทำถนนของบริษัทที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ตาชั่งและกำแพงโรงงานพังเสียหายทั้งหมด เสียหายเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาท “โดยขณะนี้ในพื้นที่ประสบภัยมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่ง และอาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูล ซึ่งทางกระทรวงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แจ้งเข้ามายังอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ที่โรงงานประกอบกิจการอยู่ เพื่อทางกระทรวงจะได้ให้หามาตราการในการช่วยเหลือต่อไป” น.ส.สุชาดา กล่าว
ข่าว
“สุริยะ”ห่วงน้ำท่วมภาคใต้เร่งช่วยเหลือ
06 ธันวาคม 2020 - 09:00