“สุชาติ” ยันเอง ขึ้นค่าแรงก่อน 1 ต.ค.
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นความหวังของคนใช้แรงงานที่จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงอาจ กลายเป็นดาบ 2 คม
ที่มีทั้งผลดีและผลเสีย การขึ้นค่าจ้างแรงงานมีรายได้เพิ่ม แต่ผู้ประกอบการต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ สินค้า ปรับราคาขยับขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนสูงอีก
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า หากเป็นไปตามที่กระทรวงแรงงานวางเป้าหมายไว้ เดือน สิงหาคม2565 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีและเดือนกันยายน2565
สรุปเสร็จสิ้นและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้ช้าสุดอาจเป็นวันที่ 1มกราคม2566 เร็วสุดไม่น่าจะเกินวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปพิจารณาทำให้จบภายในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนตัวเลขที่กำหนด 5-8 % พื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ เอา GDP ของแต่ละจังหวัด
ขณะที่สถานการณ์ค่าของชีพนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่มีการปรับตัวไปแล้วก่อนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จึงขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจะหาแนวทางแก้ไข รวมถึงจะต้องพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนทุกฝ่ายตามความเหมาะสม
ส่วนการนำเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ นายสุชาติ มองว่า?เป็นเรื่องช่วงเวลามากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาท? ตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว
ขออย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ ไม่สามารถเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมืองแต่เป็นการปรับตามเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภายหลังประเทศไทยว่างเว้นไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19
โดย นายบุญชอบ บอกว่า เบื้องต้นมี 3 จังหวัดที่ไม่ได้มีการเสนอขอปรับค่าจ้างเข้ามา คือ จังหวัดอุดรธานี มุกดาหาร และน่าน โดย คณะกรรมการแต่ละฝ่ายทุกคนมีหลักการในฝ่ายของตัวเอง มองผลประโยชน์ตัวเอง แต่วันนี้เราก็ถกเถียงกัน ภาพรวมสุดท้ายคือผลประโยชน์รวมของประเทศ” ส่วนมาตรการรองรับกรณีมีการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ฝ่ายเลขาฯ ต้องเตรียมไว้ ทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน และบางส่วนที่ต้องขอจากทางรัฐบาล อาทิ มาตรการทางภาษี มาตรการควบคุมราคาสินค้า
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ค่าเฉลี่ยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 5-7 ของฐานค่าจ้างเดิม โดยเมื่อคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดฐานเดิม 313 บาท หากปรับขึ้นร้อยละ 5 จะเท่ากับปรับขึ้น 15.56 บาท กรณีปรับขึ้นร้อยละ 7 จะเท่ากับปรับขึ้น 21.91 บาท ส่วนกรณีคำนวณจากค่าจ้างสูงสุดฐานเดิม 336 บาท หากปรับขึ้นร้อยละ 5 จะเท่ากับปรับขึ้น 16.80 บาท กรณีปรับขึ้นร้อยละ 7 จะเท่ากับปรับขึ้น 23.52 บาท
ต้องติดตามว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นในอัตราที่เท่าใดหลังจากที่ทางกระทรวงแรงงานได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนทั้งในส่วนของนายจ้างลูกจ้างและหน่วยงานภาครัฐและจะมีผลบังคับใช้ตามแผนของกระทรวงแรงงานหรือไม่ เพราะนี้ถือเป็นคะแนนนิยมของรัฐบาลเลยก็ว่าได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews