@พลันที่มีประกาศเข้าโหมดเลือกตั้งตามการนับ 180วัน ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ย้อนมาจาก 23 มี.ค.คือ 24 ก.ย. กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ก็ กลับมามีบทบาทบนหน้าปัดข่าว ในฐานะ “กรรมการสนามการเมือง” ที่กำลังถูกปรับปุ่ม เร่งอุณหภูมิร้อน แบบ ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร บนกระดานหกการเมืองนอกจาก “ผลประโยชน์ร่วม” อย่างที่เห็นผ่านอาการ “ขบเหลี่ยม” ของ “พรรคคู่หูดูโอ้”
“ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) ตั้งแต่ผู้ใหญ่ยันเด็กในพรรค ทั้งที่เคย “เลิฟเธอเสมอ” มาตลอดอายุขัย “รัฐบาลลุงตู่” ภาค2 ตั้งแต่ปี2562 กับบท จับมือร่วมกัน สู้แรงเสียดทานการต่อรองกดดันกับกลุ่มก๊วนการเมืองใน “พรรคหลักพลังประชารัฐ” (พปชร.)
ตั้งแต่ศึกเก้าอี้ดนตรีจนถึงปมปัญหาการบริหารจัดการ ที่มักมีแรงกระแทกออกข้าง หลังแรงกดดันขึ้นบนไปสู่ “ศูนย์อำนาจ3ป.” แล้วแต่ที่ผ่านมามักไม่สะเด็ดน้ำ กระทั่งลุกลามบานปลาย จนเกิดการแตกตัวแยกวง หลังเกิดปัญหาขัดแย้งกันภายใน
พปชร.จากปม “ผู้กองนัส” กับ “นายกฯลุงตู่” เหตุเพราะทั้ง ปชป.และ ภท.รวมถึง พปชร. ต้องปรับจากการทำงานร่วมรัฐบาล มาเป็น “คู่แข่งการเมือง” ในสนามเลือกตั้ง แบบที่แต่ละฝ่าย หลายพรรคทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน
หรือ พรรคแบรนด์ใหม่ๆ โหมการลงพื้นที่หาเสียง แบบมองข้ามช็อต ปม “8ปีนายกฯลุงตู่” ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดตัดสิน30ก.ย.ไปแล้ว
@โดยประกาศของ กกต.ที่ออกมาช็อตแรกวันก่อน (17ก.ย.) มีลักษณะเป็น “คำเตือน” ไปยังพรรคการเมืองนักการเมือง ว่าใกล้ถึงระยะเวลา180วันก่อนครบอายุสภา ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงตาม ม. 68 พ.ร.ป.การเลือกตั้ง61
และต้องมิให้กระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน หรือให้งดเว้นการลงคะแนน ตาม ม. 73 เริ่มตั้งแต่ 24ก.ย.จนถึงวันเลือกตั้ง การหาเสียง หากมีค่าใช้จ่าย ต้องเก็บเอกสารยื่นบัญชีรับจ่าย และ กิจกรรมที่ อาจเข้าข่ายหาเสียง
เช่น แจกของทำไม่ได้ ห้ามเสนอหรือสัญญาว่าจะให้ ห้ามโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมโหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ,ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง, ห้ามหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
@รวมถึง มีระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้าม ในหมวด 4 ข้อ อีกหลายข้อ ทั้งห้าม นำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามหาเสียง แบบใช้ความเป็นสื่อเอื้อประโยชน์ ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง
หรือโปรยในที่สาธารณะ ห้ามใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ เรียกว่าละเอียดยิบยับ แบบที่มีการประเมินกันว่า กติกานี้รัฐบาลที่แต่ละพรรค
มี “รัฐมนตรี” ได้เปรียบ กว่า พรรคฝ่ายค้าน หรือ พรรคการเมืองน้องใหม่ ที่เพิ่งเริ่มเดินสายโปรโมทแบรด์ใหม่ ที่นอกจากต้องควักกระเป๋าเองแล้วยังต้องระแวงระวังว่าจะผิดกติกาข้อไหน แถมต้องเก็บใบเสร็จไว้คำนวณค่าใช้จ่ายเลือกตั้งที่มีเพดานจำกัด
ในขณะที่ ฝ่ายรัฐบาล พรรคที่มีรัฐมนตรี สามารถลงพื้นที่ไปพบปะช่วยเหลือแจกของให้ประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนได้แบบ “อัลรีมิด” แถมยังมี “มุข” อย่างที่ “อ.สมชัย” เคยออกมาติง ว่า กฎเหล่านี้จะใช้ได้ก็แต่เฉพาะสภาอยู่จนครบวาระเท่านั้น ถ้าพอถึงจังหวะหากมีการ “ยุบสภา” ก่อนครบวาระ กฎข้อนี้ก็ใช้บังคับไม่ได้
@กระนั้นฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องการเอาชัวร์ชัดๆ กับข้อปฏิบัติเหล่านี้ที่จะมีผลวันที่ 24ก.ย.เพื่อไม่พลาดเช่นกันอย่างที่ “บิ๊กป้อม” ที่ตอนนี้ เป็นทั้ง“รักษาการนายกฯ” และ “หัวหน้าพปชร.” ที่เดินสายลงพื้นที่พบชาวบ้านถี่กว่าใครๆ พรรคไหนรวมถึง
“บิ๊กตู่” ที่ถูก “พักงาน” ทั้งวันหยุดและวันทำการ บอกว่า (21ก.ย.) กำลังรออีก2วัน ที่ กกต.จะออกมาชี้แจงข้อปฏิบัติเป็นเอกสารมา ก่อนที่ตนเองจะลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ (25ก.ย.) ที่ปรากฏว่า “บิ๊กป้อม” ยังไม่ทันพูดขาดคำ วันนี้ (21ก.ย.) กกต.จู่ๆ
ก็มีการออกโรดแมปไทม์ไลน์เลือกตั้งออกมา…ทำนอง หาก “รัฐบาล” อยู่ครบเทอม สภา อยู่ครบวาระ (23 มี.ค.) จะมีการ จัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เปิด รับสมัคร 3-7 เม.ย. 66 จัด วันเลือกตั้ง เร็วสุด 7พ.ค.66 แต่
หาก “นายกฯ” ยุบสภากกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน นับแต่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ใช้บังคับ ไม่น้อยกว่า 45-60 วัน ที่ไทม์ไลน์ดังกล่าว ถูกมองว่าเหมือนเป็นการเจาะรูระบายแรงกดดันของวันที่ 30ก.ย.ที่ศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยปม8ปี
ที่กระแสจะพุ่งเป้าไปที่ “นายกฯลุงตู่” อยู่ในที แถมเหมือนเป็นการคลี่ภาพความชัดเจน แก้ทาง กระแสข่าว “ยุบสภา” หลังประชุมเอเปคห้วงปลายปีนี้.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews