“นฤมล”หนุนกองทุนรวมเพื่อสังคม ไม่นำเม็ดเงินไปอุดหนุนหรือแจกโดยตรง กลไกลดเหลื่อมล้ำสร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัวสะท้อนมุมมองถึงแนวทางการเก็บภาษีของรัฐบาลทุกประเทศอยู่บนหลักการที่จะนำรายได้ภาษีไปเพื่อจุดประสงค์หลัก ได้แก่ 1.สร้างความเท่าเทียมในระดับหนึ่ง คือ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ ด้วยการเก็บภาษีคนรวย มาช่วยคนจนด้วยโครงการอุดหนุนชดเชยต่างๆ กับ 2.นำมาพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ เป็นต้น นอกจากนั้น เป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยราชการ
ทั้งนี้ แนวนโยบายหลายประเทศ เมื่อรายได้ภาษี น้อยกว่า รายจ่ายที่มี จึงจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล และอาศัยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เงินกู้นี้ถือเป็นหนี้สาธารณะเพื่อให้เกิดวินัยทางการคลัง กฎหมายจึงกำหนดเพดานเงินกู้ไว้ในมาตรา 28 ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ เดิมกำหนดเพดานไว้ที่ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP และ 30% ของประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต่อมา ขยายเป็น 70%และ 35% ตามลำดับ
นอกจากนั้น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ยังกำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินของส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น กฎหมายเขียนไว้ เพื่อให้เกิดวินัยการคลังว่าเม็ดเงินที่กู้มาอย่างน้อยจะนำไปลงทุนที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ
ด้วยข้อจำกัดของรายได้ภาษี กับวินัยการคลังที่จำเป็นต้องมีเป็นอย่างยิ่ง หลายประเทศ รวมทั้งไทยเราจึงได้หันมาใช้แหล่งเงินจากตลาดทุน (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน)และภาคเอกชน (การร่วมทุน PPP) ในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น แต่ภารกิจของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ยังคงพึ่งพิงงบประมาณ
ซึ่งคือรายได้ภาษีเป็นหลักเท่านั้น ในขณะที่หลายประเทศเริ่มหันไปใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดทุน ในรูปแบบของกองทุนรวมเพื่อสังคม ตลาดทุนของไทยเราก็มีศักยภาพสูงการตั้งกองทุนรวมเพื่อสังคมนี้ นอกจากจะสามารถดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนในประเทศแล้ว นักลงทุนและกองทุนลักษณะเดียวกันนี้ในต่างประเทศก็พร้อมที่จะเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมในประเทศไทยเช่นกัน
กองทุนรวมเพื่อสังคม ให้เงินลงทุนกับธุรกิจเพื่อสังคมที่คณะกรรมการกองทุนพิจารณาว่ามีศักยภาพในการสร้างผลงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด เช่น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรายได้รวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ผู้พ้นโทษจำคุกที่เข้าร่วมโครงการได้มีงานทำและมีรายได้ขั้นต่ำตามที่กำหนด รายได้ของผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น เป็นต้น
กองทุนรวมเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อสังคม เดินหน้าร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ที่จะไม่นำเม็ดเงินไปอุดหนุนหรือแจกโดยตรง แต่ทำการพัฒนาผ่านการให้ความรู้ เครื่องมือและกลไกในการที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ (UN)
นอกจากจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาให้ประเทศเรื่องแหล่งเงินทุนแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมมิติต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนเพราะไม่ว่าในอนาคตรัฐบาลจะจัดตั้งโดยพรรคใด กองทุนนี้จะดำเนินงานได้ต่อเนื่องเพราะไม่ได้ใช่เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงมิได้ใช้ระบบราชการในการดำเนินโครงการแต่อาศัยผู้ประกอบการทำงานเพื่อสังคม ที่จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอยากร่วมพัฒนาชาติไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews