ชาวบ้านโคราชทำว่าวจุฬาโต้ลมหนาวสร้างรายได้
ชาวบ้านในตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทำว่าวจุฬาติดธนูมาอวดเสียงกันอย่างคึกคักเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว นายสุนทร ข้าวพิมาย อายุ 62 ปี ชาวบ้านช่องโค หมู่ที่ 3 ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นว่าวจุฬา กล่าวว่า ได้ใช้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านของตนเอง นั่งเหลาไม้ไผ่ทำโครงว่าวจุฬาเป็นประจำในช่วงนี้ เพราะในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะมีลมหนาวพัดมาอย่างสม่ำเสมอ เหมาะกับการทำว่าวมาโต้ลมหนาวอย่างมาก แต่สมัยนี้คนส่วนใหญ่มักจะไปซื้อว่าวสำเร็จรูปที่มีวางขายตามข้างทางมาเล่นกันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีขนาดเล็ก และชักโต้ลมได้ไม่สูงมากนัก ขณะที่ว่าวจุฬาที่ทำแบบโบราณ จะชักโต้ลมได้สูงมาก และกำลังหาชมได้ยากขึ้นทุกวัน ตนเองจึงได้ทำว่าวจุฬาแบบโบราณขึ้นเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู โดยใช้ไม้ไผ่ที่หาได้ภายในหมู่บ้าน มาเหลาเป็นโครงสร้างของว่าว แต่จะต้องเป็นไม้ไผ่ต้นแก่สักหน่อย เพราะจะมีความเหนียว สามารถดัดให้โค้งงอได้ดี จากนั้นจะวัดสัดส่วนตัวว่าว แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน คือ ส่วนหาง ส่วนตัว และส่วนหัว แล้วเหลาไม้ไผ่มาดัดเป็นรูปดาว 5 แฉก ตามรูปแบบของว่าวจุฬาโบราณ ส่วนใหญ่นิยมทำขนาดสูงประมาณ 1 เมตร 50 เซนติเมตร หลังจากนั้น ก็จะนำกระดาษแก้วหรือกระดาษทั่วไปมาติดเป็นตัวว่าว ซึ่งปัจจุบันใช้แผ่นพลาสติกแทนกระดาษแก้ว เพราะมีความคงทนกว่า จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 200-700 บาท ตามขนาดของว่าวจุฬา ทำให้ในแต่ละวันสามารถขายว่าวจุฬาได้เฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 บาท เลยทีเดียว