โคราชเดินหน้า4มาตรการคุมอาวุธปืน – ยาเสพติด
ผู้ว่าฯ โคราช เดินหน้า 4 มาตรการ คุมอาวุธปืน-ยาเสพติด และสถานการณ์น้ำท่วม สนองนโยบายรัฐบาล
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครราชสีมา(ศปก.นม.) เพื่อติดตามและรับฟังผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด อาวุธปืน ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัด และสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ตลอดจน ข้อร้องเรียน-ความทุกข์ยากลำบากของประชาชน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และตัวแทนส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องอาวุธปืนและยาเสพติด ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบมาตรการและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดเอาไว้ มีมาตรการระยะเร่งด่วนสำคัญ 4 มาตรการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นระบบและรวดเร็ว นำไปใช้ได้จริง เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตลอดจน บูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง 4 มาตรการ ปะกอบด้วย
1.มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืนโดยการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เช่น เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ,หนังสือรับรองจากต้นสังกัด/นายจ้าง , การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต โดยผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนำอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต/หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐหรือนำมาขึ้นทะเบียน รวมทั้ง การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก เช่น ตรวจจับการค้าอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาต และ มาตรการทางดิจิทัล เช่น การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
2.มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การควบคุมสารเคมีที่นำใช้ผลิตยาเสพติด การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดทรัพย์ ติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด การค้นหาผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ การติดตามข้อร้องเรียนประชาชน การทบทวนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยระยะเร่งด่วนให้เร่งค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยจิตเวช , ระยะกลาง ให้เร่งรัดจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ , ระยะต่อเนื่องใช้ชุมชนเป็นฐานบำบัด ยาเสพติด
4.การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การพัฒนาเครือข่ายในและนอกระบบสุขภาพ และการพัฒนาเครือข่ายในชุมชน
ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา มีความครอบคลุมในการแก้ปัญหา แต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด โดยให้ดำเนินการเร่งด่วนภายใน 3 เดือน จะต้องตรวจสอบ-ดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ต้องขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน สามารถป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเร่งด่วน พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำหน่วยงานในท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้วย และให้มีการรายงานผลดำเนินงานให้ทราบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews