สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วม โรช ไทยแลนด์ลงนาม MOU รักษามะเร็งที่บ้าน
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับ โรช ไทยแลนด์ลงนาม MOU การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่บ้านแบบไร้รอยต่อ ยกระดับสุขภาพไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ โรช ไทยแลนด์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน (Continuum of Personal Home-based Cancer Care) โดยมี นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็ง ลงนามร่วมกับ มร.ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวยังได้รับเกียรติจาก ด.ร. ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ คุณชนัญชิดา สมจิตร หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และปัญหาการกระจุกตัวของการบริการในระบบสาธารณสุข ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งจากภายในโรงพยาบาล (hospital-based) ไปสู่ที่บ้านของผู้ป่วยแต่ละราย (personal home-based) ย่อมส่งผลดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของผู้ป่วยและผู้ดูแล ลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจสัมผัสหรือติดเชื้อสร้างความต่อเนื่องของการได้รับยาตามนัดหมายรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในใช้ทรัพยากรของระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มที่“โรคมะเร็ง” เนื่องจากก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและผลิตภาพของประเทศ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลานานกว่าสองปี ทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องปรับปรุงแนวปฏิบัติแบบใหม่เพื่อให้ระบบดูแลสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ยังคงสามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคมะเร็ง” ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้พบแพทย์และรับยาตามรอบนัดหมาย ด้วยเหตุนี้ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Clinical Oncology) จึงได้ออกคำแนะนำในการบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งในสถานการณ์โควิดเช่น การประเมินอาการผู้ป่วยก่อนการทำนัด การลดการเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโรคมะเร็ง และการให้ยาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการบริการที่บ้าน เพื่อลดความล่าช้าในให้การรักษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการดำเนินของโรคและอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง
สำหรับในประเทศไทย คำแนะนำข้างต้นยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมการแพทย์ ทั้งนี้นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็ง ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า “การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และหน่วยงานภาคเอกชน โรช ไทยแลนด์ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในการผลักดันความก้าวหน้าของระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยทำให้โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง เพราะผู้ป่วยมะเร็งนอกจากจะต้องทนต่อความทุกข์ทรมานจากโรคแล้ว ยังต้องแบกรับความกังวลใจอีกมาก เช่นการเดินทางเข้ามารับบริการภายในโรงพยาบาลการพึ่งพาลูกหลานที่อาจต้อง
ขาดงานมาดูแล จนบางครั้งผู้ป่วยมะเร็งอาจไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การพยากรณ์ของโรคแย่ลง ดังนั้น ความร่วมมือที่จะผลักดันการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้เกิดขึ้นที่บ้านของผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จึงถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น”
ด้านการดำเนินงานโครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน แพทย์หญิงแทนชนก รัตนจารุศิริ กลุ่มงานเคมีบำบัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า “โครงการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เป็นโครงการที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยโดยจะเริ่มนำร่องกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่อยู่ในความดูแลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และอาจขยายผลไปยังมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ หากมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และจะมีผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 15-20 ราย จากโครงการนำร่องนี้ เมื่อศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของโครงการต่อระบบสาธารณสุขแล้วอาจมีการพิจารณาขยายขอบเขตและปรับปรุงวิธีการให้บริการในลำดับถัดไป
ตัวแทนจากภาคเอกชนที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มร.ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “โรช ไทยแลนด์ ภูมิใจที่ได้นำประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่บ้านอย่างไร้รอยต่อจากแพทย์และพยาบาลจากในประเทศสิงคโปร์ มาถ่ายทอดให้สถาบันมะเร็งแห่งชาตินำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของระบบดูแลสุขภาพในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือด้านการวางระบบขนส่ง(logistics) เพื่อให้การจัดเตรียมยาและเดินทางทางไปยังบ้านของผู้ป่วยแต่ละรายเกิดขึ้นได้จริงโดยในอนาคตเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานของระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คลายความกังวลใจด้านต่างๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ คุณขนิษฐา เรืองศรี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะที่ 2 ยังมีโอกาสเข้ากิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “ความหวังที่เป็นจริงของผู้ป่วยโรคมะเร็งกับการรักษาที่บ้าน” ซึ่งจัดขึ้นภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และได้แบ่งปันประสบการณ์การรักษามะเร็งเต้านม “ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตามสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ปัจจุบันนี้จึงอาศัยอยู่กับลูกอีก 1 คน วันไหนที่แพทย์นัดเข้าไปรับยาที่โรงพยาบาลก็ต้องออกจากบ้านก่อนตี 5:30 โดยเรียกแท็กซี่ไป ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ หรือถ้าช่วงไหนไม่ค่อยมีเงิน ก็ต้องนั่งรถเมล์หรือมอเตอร์ไซต์ไปแทน ทุกครั้งหลังจากที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล ตนจะรู้สึกอ่อนเพลียเป็นอย่างมาก ซ้ำยังต้องมาอดทนกับความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน และความกังวลว่าอาจจะติดเชื้อมาจากที่โรงพยาบาล ดังนั้น เมื่อได้ยินข่าวว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่บ้าน ในฐานะผู้ป่วยคนหนึ่งก็รู้สึกว่าคลายความกังวลลงไปได้มาก และทำให้มีกำลังในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ยิ่งขึ้น”