Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

“ยุบสภา” เกียร์ว่างเศรษฐกิจ

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในห้วงจังหวะที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนฉ่ากับข่าว “ยุบสภา” หลังประชุมเอเปครวมถึง “ปรับครม.”

 

 

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถามภาคเอกชนถึงมุมมองเศรษฐกิจ ณ วันนี้ถึงปีหน้า ที่ยึดโยงกับความเชื่อมั่น น่าห่วงหรือไม่ คำตอบที่ได้ น่าสนใจ

 

โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้นสถานการณ์ในปีหน้าบอกตรงๆเลยว่าหนัก สะท้อนได้จากสัญญาณการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง เห็นได้จากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนำเข้าและส่งออกที่ก่อนหน้านั้นขาดแคลนรุนแรงกลับมามีจำนวนเหลือเกิดความต้องการ ขณะที่ค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศ ราคาก็ปรับลดลง บ่งบอกถึงปริมาณการค้าโลกที่ลดลง ส่วนการท่องเที่ยวของไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการที่จีนยังไม่เปิดประเทศ อีกทั้งเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยก็ขึ้น เงินบาทก็อ่อนค่า สภาพคล่องทางธุรกิจลดลง และยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหารออยู่

 

ทั้งนี้ มองว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยังทำได้ไม่เต็มที่ นั่นเพราะ ความไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของโหมดที่เข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีหน้าหรือหากมีการยุบสภาระยะเวลาก็จะเร็วขึ้น

 

นายธนิต มองว่า วันนี้รัฐบาลไม่มีทีมแก้เรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง มัวแต่สาวะวนยุ่งกับการจัดทัพรับเลือกตั้ง

 

“ผมคิดว่าปีหน้าโดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก เลื่อยไปไตรมาส 2 มันมีช่วงการเลือกตั้ง ที่ผมกังวลก็คือว่า ช่วงที่พูดง่ายๆ ไฟกำลังลุกรอบบ้านเรา แต่ของเรา ไม่มีคน สาระวนอยู่กับปัญหาภายในของตัวเอง มันไม่ได้มาช่วยเอาทรัพยากรของเรามาช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผมพูดถึงเรื่องการเมือง เพราะมันอยู่ในเทศกาลเลือกตั้งพอดีเลย และก็เป็นเลือกตั้งที่เป็นรอยต่อของอำนาจเก่า ที่ชักกะเยอกัน อันนี้ผมก็ห่วง ภายในประเทศเองก็มีปัญหาเสถียรภาพเรื่องการเมือง”

และเมื่อถามต่อถึงมุมมองเรื่องการยุบสภาคิดเห็นอย่างไร คำตอบที่ได้น่าสนใจ

 

“คือเราไม่รู้ไง มันเล่นกันไปหมด ถ้าคุณยุบสภาหลังเอเปค หรือต้นมกราคม การเลือกตั้งก็เร็วขึ้น สักเดือนกว่า แต่ถ้าเขารอไปจนหมดวาระ ก็ต้องเมษายนถึงจะเลือกตั้ง มีนา เมษา กว่าจะเลือกตั้ง กว่าจะได้รัฐบาลมากรกฎา คุณเห็นไหมหายไปตั้งครึ่งปี”

 

ดังนั้นขอเสนอของนายธนิตในห้วงจังหวะที่รอรัฐบาลใหม่นั้น องค์กรภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกลไกรัฐจะต้องผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการที่จำเป็นระยะสั้นในการดูแลเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง หรือเกียร์ว่างในการแก้ปัญหานั่นเอง

 

และนี่ก็เป็นอีกมุมองท่าทีของภาคเอกชนต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะทุกย่างก้าวของการขับเคลื่อน นั่นหมายถึงคะแนนนิยมที่จะสะท้อนถึงผู้นำอย่างนายกฯลุงตู่นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube