โฆษกดีอีเอสเตือนอย่าเชื่อ-แชร์ข่าวปลอม
ดีอีเอส เตือนโจรไซเบอร์อาละวาดหนัก ปั่นข่าวปลอม อ้างชื่อสถาบันการเงิน ปล่อยเงินกู้ ขึ้นอันดับ 1,กรมการขนส่งทางบก รับทำใบขับขี่ผ่านไลน์ ทำก่อนจ่ายทีหลัง อย่าแชร์
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวพบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,207,100 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 210ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 180 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 29 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 127 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดีและความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 49 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 44 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 11 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 23 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 3 เรื่อง ทั้งนี้ เมื่อดูข้อมูลเชิงลึก (Insight) ยังพบข้อน่าเป็นห่วงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีการกระจายข่าวปลอมเกี่ยวกับการเงินเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การให้เงินกู้ หรือชักชวนลงทุน โดยอ้างชื่อสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคข่าวสารออนไลน์อย่างมาก รวมทั้งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ ทั้งประกันสังคม ส่งข้อความให้ประชาชน ตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาโควิด และกรมการขนส่งทางบก รับต่ออายุใบขับขี่ และทำใบขับขี่เร่งด่วนผ่านไลน์ ทำก่อนจ่ายทีหลัง
สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ดังนี้
อันดับที่ 1 เรื่อง เพจ Asaia money ของธนาคารออมสิน ปล่อยกู้อัตราดอกเบื้ยคงที่
อันดับที่ 2 เรื่อง ออมสินให้เงินทุน เปิดให้กู้สินเชื่อประชาชนสุขใจ ง่าย ๆ ผ่านมือถือ
อันดับที่ 3 เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชื่อ “สินเชื่อ ออมสินประกันสังคม” เปิดให้กู้สินเชื่อสวัสดิการ ไม่ต้องมีคนค้ำ วงเงินสูงอันดับที่ 4 เรื่อง เพจเฟซบุ๊กรับต่ออายุใบขับขี่ ผ่านการรับรองโดยกรมการขนส่งทางบก
อันดับที่ 5 เรื่อง 14 สัญญาณเตือนว่าร่างกายร้อนเกิน
อันดับที่ 6 เรื่อง กรุงไทยปล่อยกู้ออนไลน์ ผ่านเพจสินเชื่อ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด
อันดับที่ 7 เรื่อง สำนักงานประกันสังคม ส่งข้อความให้ประชาชน ตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาโควิด
อันดับที่ 8 เรื่อง เพจ มายโม ของออมสิน ปล่อยกู้ผ่าน Messenger
อันดับที่ 9 เรื่อง กรมขนส่งรับทำใบขับขี่ผ่านไลน์ ทำก่อนจ่ายทีหลัง
อันดับที่ 10 เรื่อง หากส่งสลิปโอนเงินที่มีข้อมูลคิวอาร์โคดให้ผู้อื่น จะถูกแฮ็กบัญชี
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบให้รอบด้าน อย่าหลงเชื่อในข้อความเชิญชวนต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงให้กู้เงิน หลอกลงทุน ให้สินเชื่อต่าง ๆ ของมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นธนาคาร หรือผู้ให้บริการทางการเงิน เลือกแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ท่านตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ที่ Line : @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews