รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index หรือ GTI) ประจำปี ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) เผยการก่อการร้ายมีความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานลดลง 9% เนื่องจากกลุ่มตาลีบันเปลี่ยนจากกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นรัฐบาล โดยกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส และเครือข่าย ยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2565 จากการก่อเหตุใน 21 ประเทศ
ศูนย์กลางการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศที่เผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้ง และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล ซึ่ง 8 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคนี้มีคะแนนชี้วัดการขาดแคลนน้ำและอาหารย่ำแย่ที่สุดในรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report หรือ ETR) ประจำปี 2565 โดยประเทศบูร์กินาฟาโซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพุ่งขึ้น 50% สู่ระดับ 1,135 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้น 8% ส่งผลให้ประเทศนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด
สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute of Economics and Peace หรือ IEP) กล่าวว่า การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพ โดยสถานการณ์แทบไม่ดีขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักรบญิฮาดได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถปรับตัวได้ด้วยการแสวงหาพื้นที่ที่ไร้เสถียรภาพเพื่อปฏิบัติการโจมตี จึงเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าการจัดการกับการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีวิธีการที่เป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการจัดการกับการปกครองที่ย่ำแย่ ความสามารถของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ ความยากจน ทุกข์ของประชาชน และการปฏิบัติการทางทหาร”
“แม้ว่าความขัดแย้งในยูเครนจะดึงความสนใจและทรัพยากรไปจากทั่วโลก แต่การต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วโลกยังคงต้องเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญต่อไป ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การตอบสนองของประชาคมโลกก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะใจเย็นได้ และการเสียความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำไปสู่ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต การต่อสู้กับการก่อการร้ายเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่บรรดามหาอำนาจของโลกมีเป้าหมายร่วมกัน” สตีฟ คิลเลเลีย กล่าว
ที่ผ่านมา ทรัพยากรทางทหารถูกทุ่มให้กับการทำสงครามในยูเครน และทำให้เกิดความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคซาเฮล ซึ่งรัสเซียและฝรั่งเศสได้ลดจำนวนกองกำลังทหารลง ส่วนสถานการณ์ในซีเรียนั้นตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่ดีขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยกิจกรรมของกลุ่มไอเอสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมากกว่าปี 2564 ถึง 42% แม้ว่าจำนวนครั้งของการก่อเหตุจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กลุ่มไอเอสปฏิบัติการอยู่ ในปี 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสในซีเรียอยู่ที่ 344 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
สงครามและความขัดแย้งรุนแรงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการก่อการร้าย โดย 88% ของการก่อเหตุและ 98% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้ง
ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นผลมาจากระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดย รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ประจำปี 2565 ระบุว่า มี 27 ประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่รุนแรง ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นทางสังคมในระดับต่ำ โดยประเทศเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสามภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้ นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดด้วย